นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ครั้งที่ 2/2563 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยแบ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ ประเภทเมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) จำนวน 3 โครงการ และประเภทเมืองใหม่ทันสมัย (New City) 1 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานผู้ดำเนินโครงการฯ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ และนำเสนอต่อที่ประชุมฯ ในครั้งถัดไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และการคัดกรองเบื้องต้น จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ กรุงเทพมหานคร โดยมี สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ
2. โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง โดยมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ
3. โครงการเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมี บมจ. ปตท. (PTT) เป็นผู้ดำเนินโครงการ
4. โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ จังหวัดภูเก็ต โดยมี สำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินโครงการ
5. โครงการโคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา โดยมี สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินโครงการ
6. โครงการเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน โดยมี เทศบาลเมืองน่าน เป็นผู้ดำเนินโครงการ
7. โครงการเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ คณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านจะต้องดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจาก 33 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่เหลือ ซึ่งผลการพิจารณาทั้งหมดจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมรับตราสัญลักษณ์ในที่สุด