สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค.63 อยู่ที่ระดับ 91.43 หดตัว -9.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ MPI ในเดือนส.ค.63 ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ หดตัว -29.67% ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หดตัว -22.19% และน้ำตาลทราย หดตัว -75.1%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ส.ค.63 อยู่ที่ 60.69%
ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ดัชนี MPI หดตัว -12.45%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า แม้ดัชนี MPI ในเดือนส.ค.63 จะยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเข้าสู่เลขหลักเดียว แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนี MPI ขยายตัว 4.81% โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนส.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนในเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุด และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยจะไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบที่สอง
สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักในเดือนส.ค.63 ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัว 0.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ขยายตัว 10.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมา โดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนส.ค.จากความต้องการจากตลาดในประเทศขยายตัว 16.10% หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนส.ค. ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 66.67% เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติ จึงมีความต้องการใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น
เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.60% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น ผู้บริโภคภายในประเทศยังมีความต้องการอาหารสดเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับลดราคาเพื่อขยายฐานลูกค้า ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้นไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.75% จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะ เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเป็นคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก และราคาไม่สูงมากส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.82% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.42% เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญที่ยังมีการระบาดอยู่ ประกอบกับช่องทางการค้าปลีกมีการขยายตัวได้ดีขึ้น
นายทองชัย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค.กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.63 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน
"สถานการณ์ในต่างประเทศยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้ชะลอตัวลง ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน" ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว