(เพิ่มเติม) สทท.เผยดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยว Q3/63 ดีขึ้นกว่าคาด แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2020 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 60 สูงกว่าที่ผู้ประกอบการได้คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาส 2/63 ที่ 37 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมาและดีกว่าที่คาดไว้มาก

แต่ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 62 ที่อยู่ที่ 91 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาส 4/63 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์อยู่ที่ 63 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้เล็กน้อย และยังคงคาดว่าผลประกอบการอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก เนื่องจากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 5 หมื่นคน ลดลง 99.52% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 และทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4,500 ล้านบาท ลดลง 99.11%

ขณะที่คาดว่าเมื่อสิ้นปี 63 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งประมาณ 6.74 ล้านคน ลดลง 83.07% จากปี 62 และจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 336,513 ล้านบาท ลดลง 82.59% จากปี 62 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในไตรมาส 4/63

นายชัยรัตน์ กล่าวถึงแนวทางที่ภาคเอกชนต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้

1.การเรียกร้องเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็น

1.1. รัฐบาลควรส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ

1.2. ควรจัดตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยวหรือกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ

1.3 การกระตุ้นอุปสงค์การท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศแบบเป็นคณะ

2.การเรียกร้องเพื่อยกระดับโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2.1 ส่งเสริมการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Re - Business Model) ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่งเสริมการ Upskill - Reskill สำหรับแรงงานให้สอดรับกับสถานการณ์และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ

2.2 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้เหมาะกับการรับนักท่องเที่ยวและการเดินทาง

2.3 การปรับกลุ่มเป้าหมายด้านตลาดท่องเที่ยวของประเทศ

2.4 การส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

3. การเรียกร้องด้านกฎระเบียบข้อบังคับ

3.1. การทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และยกเว้นค่าธรรมเนียม/ภาษี บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว

3.2 มาตรการเพื่อการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต้องมีความต่อเนื่อง

3.3 มาตรการช่วยเหลือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจกการปิดประเทศ โดยเฉพาะอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้แก่ มัคคุเทศก์และคนขับรถเที่ยว

นายชัยรัตน์ ระบุว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ, การขยายเวลาการชำระหนี้, การขยายมาตรการเยียวยาด้านประกันสังคมในการจ่ายชดเชยให้แรงงาน, การตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลให้การสนับสนุนและช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นจะทำให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ควรมีการปรับเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ เช่น โครงการไปเที่ยวด้วยกัน เช่น ให้ประชาชนสามารถใช้บริการผ่านบริษัททัวร์แทนการโหลดแอปพลิเคชั่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงง่ายขึ้น หรืออาจปรับเปลี่ยนมาเป็นการแจกคูปอง เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าของฝาก นอกจากนี้รัฐควรเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเพิ่มสัดส่วนการชดเชยการท่องเที่ยววันธรรมดาจาก 40% เป็น 60%

นายชัยรัตน์ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทยอยปิดกิจการกว่า 70% จากผลกระทบโควิด-19

"สิ้นปีนี้น่าจะเห็นชัดเจน เพราะหากยังไม่มีวัคซีนออกมาก็คงฟื้นตัวยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ไม่ไหวทยอยปิดกิจการมากขึ้น" นายชัยรัตน์ กล่าว

นายสุทธิพงศ์ เผื่อพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า สถานภาพการจ้างงานของธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบันน่าจะมีผู้ประกอบการปิดกิจการอย่างถาวรแล้ว 10% และปิดกิจการชั่วคราวราว 25% ซึ่งยังไม่รวมผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า โครงการ STV เป็นสัญญาณที่ดี โดยนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 7 เดือนแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไปราวไตรมาสละ 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานที่คาดว่าภายในปีนี้จะมีคนตกงานราว 2 ล้านคน

ดังนั้นจึงอยากเสนอรัฐผ่อนปรนให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ประเทศที่อยู่ในระดับปลอดภัย เข้ามาท่องเที่ยว 5-7 วัน มีจำนวนราวเดือนละ 1 แสนคน ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศราว 5 พันล้านบาท

"ถ้ายังไม่เปิดรับก็จะสูญเสียรายได้ไตรมาสละ 5 แสนล้านบาท ตอนนี้ผ่านไป 2 ไตรมาสแล้ว หากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เอกชนก็ต้องปิดกิจการ ถ้าถึงปลายปีน่าจะมีคนตกงานถึง 2 ล้านคน" นายวิชิต กล่าว

นายวิชิต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการกำหนดระยะเวลากักตัวเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะคงไม่มีใครอยากเดินทางเข้ามา เช่นเดียวกันหากต่างประเทศกำหนดให้คนที่เข้าประเทศต้องถูกกักตัวก็คงไม่มีใครอยากไปเที่ยวต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ