ธปท.จะเชื่อมโยงนโยบายการเงินกับด้านอื่นมากขึ้น/เร่งผลักดันกม.4 ฉบับ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2007 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เวทีระดมความเห็นเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากกระทรวงการคลัง และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะปานกลาง เห็นว่า กรอบนโยบายการเงินที่ใช้อยู่มีความเหมาะสมระดับหนึ่ง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องสื่อสารกับสังคมเพิ่มขึ้น และสร้างความเชื่อมโยงนโยบายการเงินกับนโยบายด้านอื่น ๆ มากขึ้นด้วย
"กรอบนโยบายขณะนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องหากลไกเพื่อทำให้ระบบมีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน เพราะหากธปท.ดูแลคนเดียวก็จะมีแต่นโยบายการเงิน ซึ่งควรจะมีนโยบายการคลัง และด้านอื่น ๆ เชื่อมโยงกัน"นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.แถลงผลการประชุม
ทั้งนี้ ในการหารือดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดมาตรการระยะสั้นเพิ่มเติม และไม่ได้มีการพิจารณายกเลิกมาตรการสำรอง 30% ที่ธปท.ใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด
"เป้าหมายหลัก ๆ ทางเศรษฐกิจก็มีความเชื่อมโยงกันหมด แต่เวลาสื่อไปสู่สาธารณชน กลายเป็นว่าธปท.ดูแลเงินเฟ้ออย่างเดียว ก็ต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจและมีความคาดหวังที่เหมาะสมกับสิ่งที่นโยบายการเงินทำได้"นางธาริษา กล่าว
นางธาริษา กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ธปท.ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวนโยบายและรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ประเทศมีความแข็งแกร่งเพียงพอจะรับมือกับความผันผวนของโลก โดยอธิบายถึงกรอบนโยบายการเงินที่ยึดหลัก 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย การดูแลเสถียรภาพด้านราคา เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน , การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ, การเปิดเสรีเงินทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ การดูแลความเสี่ยงด้านมหภาค
สำหรับกรอบนโยบายการเงินที่ใช้อยู่ขณะนี้อิงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ มีความยืดหยุ่น และสามารถดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษบกิจไปด้วยกันได้ จึงมีความเหมาะสมอยู่แล้ว การใช้เครื่องมือสำคัญคือนโยบายอัตราดอกเบี้ย มีผลกระทบต่อทั้งการลงทุนและการใช้จ่าย รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัด
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า การบริหารกรอบนโยบายการเงินขณะนี้ทำได้ลำบาก เนื่องจากสภาพภายนอกมีความผันผวนมาก สิ่งที่ที่ประชุมเห็นตรงกันคือกรอบนโยบายการเงินในการดูแลเสถียรภาพของราคา ช่วยดูแลเศรษฐกิจได้ในระยะยาว และเป็นกรอบที่สามารถดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ เพราะมีความยืดหยุ่นนื่องจากมีช่วงกว้างถึง 0-3.5%
แต่เนื่องจากความผันผวนของภายนอกทำให้ธปท.ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการไหลออกของเงินอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กรอบนโยบายการเงินจะต้องคำนึงถึงจุดประสงค์หลายอย่าง แต่ในความเป็นจริงก็เป็นไปไม่ค่อยได้ จึงต้องอาศับนโยบายการคลังด้วย
นอกจากนั้น ยังเป็นว่าเครื่องมือที่ใช้ดูแลนโยบายการเงินขณะนี้ เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ย หรือการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนบางช่วงอาจไม่เพียงพอ ที่ประชุมหลายคนเห็นว่าควรมีมาตรการดูแลเงินไหลเข้าออก หรือ capital control เวลาเดียวกันที่ประชุมก็เห็นว่าในภาวะที่มีความผันผวนก็ต้องพยายามพัฒนาระบบการเงินให้ผู้ที่เป็นนักธุรกิจ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจต้องมีเครื่องมือในการดูแลความเสี่ยงของตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งต้องชั่งน้ำหนักว่าอย่างครั้งการดูแลการไหลเข้าออกของเงินอาจทำให้การพัฒนาเครื่องมือในการดูแลความเสี่ยงช้าลง ซึ่งเป็นที่ทางการต้องดูว่าทำอย่างไรให้การพัฒนาระบบการเงินที่มีเครื่องมือในการดูแลความเสี่ยง พร้อมกับการดูแลความผันผวนต่าง ๆ ไปด้วยกัน
ที่ประชุมยังเห็นว่าการพัฒนากฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายการเงินทั้ง 4 ฉบับที่ผลักดันให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะผลักดันกันมาตั้ง 10 ปีแล้ว แต่ประเด็นปัญหาคือต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้ได้
นางธาริษา กล่าวว่า การแทรกแซงค่าเงินบาทยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นครั้งคราวเพื่อลดความผันผวน แม้ว่าที่ผ่านมาเงินบาทจะมีความผันผวนแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันก็ยังผันผวนน้อยกว่า ดังนั้นการดูแลอัตราแเลกเปลี่ยนจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มค่าและความเหมาะสม ซึ่งการแก้ไขกฎหมายทางการเงินทั้ง 4 ฉบับก็มีความจำเป็นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของธปท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ