ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 63 โดยยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 63 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/63
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนกลับมาขยับขึ้นในไตรมาส 2/63 สวนทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงในหลายภาคส่วนในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้นไปที่ 83.8% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปีและสูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter on Quarter) ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/63 นำโดย สถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ เร่งขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/63 โดยระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัวเป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/63 สะท้อนสถานการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2/63 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า
ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากนี้ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (ทั้งมาตรการเฟสสองและมาตรการรวมหนี้) รวมถึงมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้อาจช่วยบรรเทาภาระให้กับครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ในช่วงที่ยังต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง (ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี หรือ MRR ตลอดจนการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ) ยังช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้