นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ จ.ชลบุรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานและองค์กรของไทย อาทิ ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมศุลกากร โดยย้ำการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้าและการสัญจร
ที่ประชุมได้มีการรายงานแผนงานเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ทั้งโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดความคับคั่งของท่าเรือ ด้วยการขนส่ง 2 ระบบ โดยเฉพาะทางราง โครงการเชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge ด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งไทยเชื่อมด้วยถนน Motorway ราง และรถไฟ เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ การขนส่งของประเทศและสามารถขยายศักยภาพเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้ และโครงการสะพานไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับในการศึกษาทั้ง 3 โครงการนั้น ต้องสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน และเกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจระหว่างทางด้วย โดยใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีกำชับว่า การดำเนินการทุกอย่างโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ทุกหน่วยงานต้องเร่งทำงาน ใช้ช่วงโควิด-19 เตรียมพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถเปิดรับเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านได้ทันที
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติกับผู้บริหารระดับสูง (CEO) จากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ พร้อมขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นี่คือโอกาสในการลงทุนและเป็นความท้าทายของรัฐบาล ในการจะขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะเจอกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลก็ไม่เคยหยุดคิด ยังคงมุ่งทำงานเพื่อวางรากฐานประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกการลงทุนในทุกพื้นที่ทั้ง EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกที่นำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในภาคธุรกิจด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาในพื้นที่ EEC ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตอบโจทย์การลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต แม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 การลงทุนใน EEC ยังอยู่ในระดับสูง ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีคำขอรับการส่งเสริมใน EEC จำนวน 277 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 54% ของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ใน EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรม EECi ที่จังหวัดระยอง ได้ผู้ชนะการประมูลครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมทั้งด้านโลจิสติกส์ ระบบรถไฟความเร็วสูง สาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานฝีมือทั้งในและนอกระบบเพื่อตอบสนองการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขอเชิญชวนให้เอกชนแสวงหาโอกาส หรือเพิ่มการลงทุนที่ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ผลิตภัณฑ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ เกษตรและอาหาร ซึ่งรัฐบาลพร้อมนำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนทั้งการส่งเสริมนวัตกรรม จะเร่งรัดดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนและประกอบธุรกิจในไทย มั่นใจว่ารัฐบาลและนักลงทุนจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป