ธปท.เชื่อแบงก์ทั้งระบบกำไรดีใน H2/50 ยังห่วง NPL เร่งตัวแม้แรงกดดันลด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 17, 2007 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าในครึ่งปีหลังธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ดี หากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนี้มาก และหากปัจจัยต่าง ๆ ดีขึ้นก็มีโอกาสจะทำกำไรได้มากขึ้นอีก แต่ยังมีธนาคารบางแห่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในช่วงที่เหลือของปี และยังไม่วางใจการเร่งตัวของหนี้ด้อยคุณภาพที่เริ่มเห็นในช่วงไตรมาส 2/50 แม้จะเชื่อว่าแรงกดดันจะลดลง 
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินมองว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีในครึ่งปีแรก แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และธนาคารบางแห่งจะมีภาระการกันสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน IAS39 จึงเชื่อว่าในช่วงต่อไปกำไรน่าจะยังเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ ช่วงครึ่งแรกของปี 50 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรจากการดำเนินงาน 91.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 30 พันล้านบาท ลดลง 42.5% เนื่องจากมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ IAS 39 ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นมิ.ย. 50 ยังอยู่ในระดับสูงที่เฉลี่ย 14.3% จากเกณฑ์ของธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5%
ระบบธนาคารพาณิชย์ได้มีการเพิ่มทุนไปแล้ว 27 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี และธนาคารบางแห่งยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก ส่วน NPL เพิ่มขึ้นเป็น 7.8% ของสินเชื่อรวม ณ 30 มิ.ย.50 จากระดับ 7.5% ณ สิ้นปี 49 โดย Net NPL (หลังหักสำรองหนี้เสีย) เพิ่มขึ้น 1.83 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.4% ของสินเชื่อรวม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ แสดงความเป็นห่วงการเร่งตัวของ NPL เพราะช่วงปี 46-49 สัดส่วน NPLลดลงมา และไตรมาสแรกยังทรงตัว แต่มาเร่งตัวในไตรมาส 2/50 ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่าเหตุผลหลักคือภาวะเศรษฐกิจชะลอ แต่เชื่อว่าแรงกดดันต่อการเร่งตัวของ NPL จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี หากรัฐบาลเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณ และความเชื่อมั่นของประชาชนฟื้นตัวหากมีเลือกตั้งใหม่
ส่วนการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท CDO นั้น ธปท.ไม่กังวลมากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนน้อยมาก และธนาคารพาณิชย์เองมีการประเมินความเสี่ยงอย่างระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาแล้ว แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ยังต้องติดตามต่อไป เพราะเกรงว่าจะกระทบกับด้านอื่น ๆ
สำหรับสัดส่วนเงินฝากที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรก เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดทุนค่อนข้างมาก ผู้ฝากเงินบางส่วนก็โยกเงินไปลงทุนกับกองทุนรวม เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 84% ลดลงจาก 89% ในปลายปี 49 แต่ก็ยังถือว่าสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ