ศูนย์วิจัยกสิกรฯแนะผู้ประกอบการผลิตรองเท้ากีฬาหาตลาดใหม่รองรับผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2007 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะทางออกให้ผู้ประกอบการผลิตรองเท้ากีฬาของไทยเร่งกระจายตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้ามาแทนที่ตลาดสหรัฐที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบเงินบาทแข็งค่า นอกจากนี้ยังมีตลาดส่งออกที่น่าสนใจ ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาไปยังประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงนัก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไปได้ โดยการเจรจาหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ การเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับสมาคมรองเท้าของแต่ละประเทศ เยี่ยมชมโรงงานผลิตรองเท้ากีฬา โรงเรียนสอนออกแบบ และสำรวจย่านแฟชั่น ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องสำรวจจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งของรองเท้ากีฬาของไทยในแต่ละตลาดด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาในช่วงครึ่งแรก(ม.ค.-มิ.ย.50)ของปีนี้อยู่ที่ 256.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.6% เนื่องจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยย้ายฐานการผลิตและคำสั่งซื้อไปยังจีนและเวียดนาม ทำให้สัดส่วนการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยไปยังตลาดสหรัฐลดลงจาก 40% ของมูลค่าการส่งออกรองเท้ากีฬาทั้งหมดมาอยู่ที่ 30%
"การส่งออกรองเท้ากีฬาไปยังตลาดสหรัฐมีแนวโน้มลดความสำคัญลงในปีนี้ อันเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้รองเท้ากีฬาของไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรับจ้างผลิตสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้ากีฬา เสื้อผ้ากีฬา เป็นต้น ทยอยปิดกิจการลงไปนอกเหนือจากการเผชิญปัญหามากมาย เช่น ปัญหาค่าเงิน ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาค่าจ้าง ปัญหาราคาวัตถุดิบ ปัญหาการส่งออกชะลอตัว และปัจจัยสำคัญมาจากเจ้าของสินค้าพร้อมที่จะย้ายฐานการผลิตและคำสั่งซื้อไปยังแหล่งที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า
"บริษัทแม่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยย้ายฐานการผลิตและคำสั่งซื้อไปยังจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่าไทย และเป็นตลาดรองเท้ากีฬาขนาดใหญ่ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
การลดคำสั่งซื้อสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน เช่น ผู้ประกอบการในอินโดนีเซียที่ทางบริษัทแม่ลดคำสั่งซื้อรองเท้ากีฬาจากเดิมเดือนละ 650,000 คู่ เหลือเพียง 200,000 คู่ เนื่องจากโรงงานเหล่านั้นไม่สามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬาในไทยจำนวนประมาณ 50 ราย เงินลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานราว 30,000 คน กำลังการผลิตรองเท้ากีฬาประมาณปีละ 490,000 คู่ ซึ่งแยกเป็นการผลิตตามคำสั่งของบริษัทแม่ในต่างประเทศ, การผลิตตามแบบของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ และการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง
ที่ผ่านมาการผลิตรองเท้ากีฬาของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตสินค้าแบรนด์เนมจึงมีประสบการณ์สูงเพราะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีศักยภาพสูงในการผลิตที่มีมาตรฐาน พอมาถึงปี 46 ผู้ว่าจ้างเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ทำให้ผู้ผลิตของไทยหันมาปรับทิศทางการผลิตและการตลาดโดยหันมาให้ความสนใจกับตลาดในประเทศมากขึ้น ขณะที่ตลาดรองเท้ากีฬาในประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนการผลิตจากชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่อเนื่อง เช่น ยางพื้นรองเท้า หนังเทียม และโลหะประกอบต่างๆ
สำหรับตลาดในประเทศคาดว่า ในปี 50 มีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 6% แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่เคยมีอัตราการขยายตัวสูงถึงปีละ 10-15% ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเพราะมีทั้งผู้ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
"ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง ผู้ประกอบการจึงเน้นประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน โดยไม่มีการลงทุนเพิ่ม แค่ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษายอดจำหน่ายและรักษาฐานลูกค้าไว้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ตลาดรองเท้ากีฬาในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด โดยกลุ่มสินค้าระดับล่างมียอดขายทรงตัวเนื่องจากราคาไม่แพง ลูกค้ากล้าตัดสินใจซื้อ แต่เผชิญปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตัดราคา ขณะที่กลุ่มสินค้าระดับกลางขึ้นไปต้องเผชิญปัญหายอดขายลดลงเนื่องจากเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มและการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เพราะราคาไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาเลือกซื้อของลูกค้า แต่ลูกค้าจะคำนึงถึงดีไซน์ คุณภาพ และชื่อเสียงของยี่ห้อ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ