นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC ถึงภาวะการลงทุนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ในช่วงประสบปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ว่า ยังมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวม 277 โครงการ เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนโครงการและเงินลงทุนใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ส่วนเม็ดเงินลงทุนใน EEC มีมูลค่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ และส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรีและระยอง
ในพื้นที่ EEC มีมูลค่าคำขอลงทุนจากต่างประเทศช่วง 8 เดือน คิดเป็น 6.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 60% ของมูลค่าคำขอทั้งหมดใน EEC โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ตามมาด้วย จีน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และ สิงคโปร์ พร้อมทั้งเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายจะมีการลงทุนจากต่างชาติอีกจำนวนมากที่รอเข้ามาลงทุนในไทย
ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ยื่นคำขอ ส่วนใหญ่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใน New S-Curve มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านไบโอเทค ออโตเมชั่นและด้านการแพทย์
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการลงทุนใน EEC มุ่งเน้นสนับสนุน 3 แกนนำกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ได้แก่
1.) กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์
2.) กลุ่มดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยานยนต์สมัยใหม่ เน้นเทคโนโลยีระบบ 5G การพัฒนา Platform บนพื้นฐาน 5G
3.) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistics) ต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบินและด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นเทคโนโลยีระบบจัดการเกี่ยวกับพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ เพื่อชักจูงนักลงทุนในต่างประเทศ โดยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ที่มีกลุ่มนักลงทุนอุตสากรรมเป้าหมาย จัดการประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยงานกระทรวงต่างประเทศและเอกอัครราชทูต พร้อมจัดส่งรายชื่อบริษัทและเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อชักชวนให้เกิดการลงทุนใน EEC เบื้องต้นได้ประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เจาะลึกและจัดส่งข้อมูลการลงทุนให้กับสหราชอาณาจักร 2 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สหรัฐอเมริกา 2 บริษัท และฝรั่งเศส 2 บริษัท
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า การลงทุนใน EEC ปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ ก.ย.63) แบ่งเป็น
1. งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 61-64 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 65-67 มูลค่า 16,930 ล้านบาท
2. โครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน (PPP) ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 63 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 64 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท
3. การออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงาน บีโอไอ มีการส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี 60 ถึงเดือนมิ.ย. 63 รวมเป็นมูลค่าลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น