ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ลือธ.กลางยุโรปอาจขึ้นดบ. ถ่วงดอลล์อ่อนเทียบยูโร

ข่าวต่างประเทศ Friday August 24, 2007 07:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ส.ค.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน เนื่องจากข่าวที่ว่าแบงค์ออฟอเมริกา อาจเข้าซื้อกิจการบริษัทคันทรีไวด์ ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยกู้จำนองรายใหญ่สุดของสหรัฐ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.3557 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.3536 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรปย้ำว่ายังคงกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อและการขยายทางเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 2.0029 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากระดับ 1.9917 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.75% ในการประชุมเดือนหน้า
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 115.92 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 115.06 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าทำธุรกรรม carry trade ในสกุลเงินเยนมากขึ้น
เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นไว้เท่าเดิมที่ 0.5% อย่างไรก็ตาม นายโตชิฮิโกะ ฟูกูอิ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "การที่บีโอเจยังตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าการประเมินเศรษฐกิจจะชัดเจนขึ้นนั้น อาจทำให้สายเกินไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าบีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้
ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กมีปฏิกริยาในด้านบวกต่อข่าวที่ว่า แบงค์ออฟอเมริกาวางแผนที่จะซื้อหุ้นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในบริษัทคันทรีไวด์ ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยกู้จำนองรายใหญ่สุดของสหรัฐ เพื่อช่วยกอบกู้วิกฤตการณ์ของคันทรีไวด์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลงทุนในตลาดซับไพรม์
นายเจมส์ ฮิวจ์ นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์ แสดงความคิดเห็นว่า "ผมมองว่าตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเคลื่อนไหวอย่างไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน แต่เคลื่อนไหวด้วยการเก็งกำไรมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระตุ้น ไม่จะเป็นกรณีที่ธนาคารกลางของหลายประเทศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ หรือกรณีที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ