(เพิ่มเติม) สรท.มองส่งออกปีนี้มีโอกาสหดตัวลดลงเป็น -8% หรือช่วงคาดการณ์ -10 ถึง -8%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2020 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 63 มีโอกาสหดตัวน้อยลงมาอยูที่ -8% จากช่วงประมาณการที่ -10 ถึง -8% ซึ่งเดิมเคยคาดว่าการส่งออกปีนี้อาจหดตัวลงลึกถึง -10%

ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลทำให้การส่งออกดูดีขึ้น คือ อุปสงค์ทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากดัชนีทางเศรษฐกิจในหลายส่วนเริ่มมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีค่าเกิน 50 แสดงถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิต และยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกทั่วโลกที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าอาหาร (ข้าวกลุ่มพรีเมียม ทูน่ากระป๋อง) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน (เครื่องใช้ไฟฟ้า) และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโรค (ถุงมือยาง)

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ 2.เงินบาทที่ยังอยู่ในระดับแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 3. ปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศ 4.ปัญหาภัยแล้ง 5.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

"สรท. ปรับคาดการณ์ส่งออกในปีนี้น่าจะหดตัว -10% ถึง -8% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -10% เนื่องจากการส่งออกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังมีการเปิดประเทศ โดยการส่งออกในเดือน ส.ค.หดตัว -7.94% ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลดลง แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาต้นทุนขนส่งและปริมาณตู้สินค้าที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากการส่งออกของจีนขยายตัว 11% จนอาจฉุดการฟื้นตัวส่งออกไทย" น.ส.กัณญภัคระบุ

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ หรือไม่แข็งค่ากว่สกุลเงินอื่นในภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไม่เพียงพอ 3.แก้ปัญหาการปรับเพิ่มอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ 4.แก้ปัญหาปริมาณระวางเรือและตู้บรรจุสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประธาน สรท.กล่าวว่า หลังจากมี รมว.คลัง คนใหม่แล้วก็อยากเห็นมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับล่าง และต้องหาวิธีใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องสภาพคล่องได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช้การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนนั้น เห็นว่าอาจทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงของประชาชนบางกลุ่มได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ