ครม.รับทราบผลงานรอบ 1 ปี ของกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2020 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมในรอบ 1 ปี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ที่สำคัญในรอบ 1 ปี

1. การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินรวม 71,202 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 7.29 ล้านครัวเรือน

2. การนำทีมภาคเอกชนขายสินค้าทั่วโลก โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าส่งออกรวม 94,822 ล้านบาท และสร้างมูลค่าจากการจัดงานแสดงสินค้าและจัดคณะผู้แทนการค้ารวม 54,192.68 ล้านบาท และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จกว่า 13,000 ราย

3. การผลักดันการค้าชายแดน สามารถสร้างมูลค่าการค้าชายแดนรวม 1.02 ล้านล้านบาท

4. การจัดงานลดราคาสินค้าร่วมกับภาคเอกชน ทั้งงาน "พาณิชย์ ลดปัง ข้ามปี New Year Grand Sale 2020" ลดราคาสินค้าเฉลี่ย 30% คิดเป็นมูลค่า 21,600 ล้านบาท และงาน "พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน ล็อต 1-5 " ลดราคาสินค้ากว่า 8,700 รายการ ลดสูงสุดถึง 80%

5. การเป็นประธานรัฐมนตรีการค้า RCEP จนได้ข้อสรุปการเจรจาครบ 20 ข้อบท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงดังกล่าว

6. การยกระดับร้านโชห่วยเป็นสมาร์ทโชห่วยได้กว่า 28,000 แห่ง และยกระดับสมาร์ทโชห่วยเป็นสมาร์ทโชห่วยเดลิเวอรี่ จำนวน 2,655 ร้าน

7. ยกระดับราคาเศษกระดาษช่วยซาเล้ง โดยการประกันราคารับซื้อเศษกระดาษขั้นต่ำกิโลกรัมละ 2 บาท (ราคาปรับเพิ่มจากเดิม 4 เท่า) คาดว่าจะสามารถช่วยซาเล้งได้ประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน

8. สร้างนักธุรกิจยุคใหม่ให้มีความพร้อมเข้าสู่การค้ายุค New Normal สามารถสร้างนักธุรกิจยุคใหม่รวม 19,087 ราย

9. การเพิ่มสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 19 รายการ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่สินค้าดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในรอบ 1 ปี อาทิ

1. การขยายกิจการทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,900 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 876,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน จำนวน 300,000 คน

2. การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME โดยอนุมัติสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐรวม 11,036 ราย วงเงิน 17,434 ล้านบาท

3. การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการโดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตต่างๆ

4. การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรการจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสด ซึ่งสามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาอ้อย และลดการเผาอ้อยได้ 1.2 ล้านไร่ และรวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จำนวน 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

5. การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น การพักชำระหนี้และเพิ่มวงเงินสินเชื่อ จำนวน 25,000 ล้านบาท การขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการภายใน 90 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ