ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 23 ก.ย.63 ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย
แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ประเมินว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง
อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
"กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการรอบก่อน โดยคาดว่าจะหดตัว ที่ -7.8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ"
นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลไม่มากในบริบทปัจจุบัน โดยอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงิน เพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรรวมถึงกระทบต่อการออมของประชาชน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. และมาตรการการคลังของรัฐบาล ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย ตลอดจนเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบน้อยลงกว่าประมาณการเดิม จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564
ด้านระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ (1) ดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้นผ่านการเร่งรัดสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term)เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ และ (3) เตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวจะใช้เวลาและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาค และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม มาตรการภาครัฐในระยะ ข้างหน้าจำเป็นต้องต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์โดยควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลและหารืออย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงมีความเปราะบางทั้งมิติด้านการจ้างงานและด้านรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ดังนั้นมาตรการด้านแรงงานในระยะถัดไปจึงมีความสำคัญสูง และต้องตรงจุดมากขึ้น โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละสาขาเศรษฐกิจรวมถึงการฟื้นตัวและอุปสรรคในการปรับตัวที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
"มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น" รายงาน กนง.ระบุ