สนพ.-รัฐบาลอังกฤษ ร่วมลงนาม MoU พัฒนาแบบจำลอง 2050 Calculator ของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2020 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และ H.E. Brian Davidson เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ในการ "พัฒนาแบบจำลอง 2050 Calculator ของประเทศไทย" เป็นความร่วมมือระหว่าง สนพ. กระทรวงพลังงาน และ The United Kingdom Department for Business, Energy and Industrial Strategy (BEIS) ของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาแบบจำลอง 2050 Calculator ให้กับประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน โดยคณะทำงานประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ สนพ. เป็นหน่วยประสานงานในการดำเนินงานรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ สนพ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสาขาพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ตาม NDC Roadmap (Thailand?s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 -2030) ซึ่ง สนพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 ? 2573 สาขาพลังงาน แล้วเสร็จในปี 2561 และได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการดังกล่าวและมอบหมายให้ สนพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ แบบจำลอง 2050 Calculator ของประเทศไทย ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่ง สหราชอาณาจักรจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สนพ. ทั้งในส่วนของการติดตามและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงาน รวมทั้งจะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในอนาคต และช่วยเพิ่มศักยภาพบุคลากรของ สนพ. ให้มีความรู้ ความเข้าใจและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานด้านพลังงานเชื่อมโยงกับงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงแบบจำลองให้สอดคล้องและรองรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ