ดัชนีเชื่อมั่นดิจิทัล Q2 หดช่วงล็อกดาวน์จากขาดทุน-แรงงานแต่เริ่มฟื้น Q3

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2020 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยถึงรายงานผลสำรวจดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมดิจิทัลว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมดิจิทัลไม่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น แม้การใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็ตาม ในขณะที่ธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Services) เติบโตสวนทางกับตลาดฮาร์ดแวร์ที่กำลังดิ่งลงจากพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีทิศทางสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล สะท้อนให้เห็นว่ากลไกต่าง ๆ กำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ แต่ยังขาดกำลังคนดิจิทัลที่จะสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสามารถบ่งชี้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและมีการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพราะดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในการขับเคลื่อนธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน

แต่อย่างไรก็ตาม เรายังขาดแคลนเรื่องกำลังคนดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย กำลังคนดิจิทัลที่มีศักยภาพ ความสามารถสูง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้เติบโตในตลาดโลก บัณฑิตที่จบใหม่ ต้องพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีทักษะตามที่ตลาดแรงงานดิจิทัลต้องการ ทำงานได้ทันที จึงต้องมีการ Upskill หรือ Reskill ก่อนที่บัณฑิตเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาด

ดัชนีความเชื่อมั่นจึงเป็นเสียงสะท้อนว่านโยบายที่ภาครัฐใช้นั้นเกิดผลสำเร็จได้จริงหรือไม่ หากค่าดัชนีฯ ต่ำหมายถึง ภาคธุรกิจไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐและการทำงานของภาครัฐ เพราะฉะนั้น ดัชนีฯ จึงเป็นเสียงสะท้อนโดยตรงจากผู้ประกอบการดิจิทัล

ในเชิงรายละเอียดจากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ระดับ 43.4 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ชี้ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ แม้ว่าในช่วงโควิด-19 จะมีผู้ใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็ตาม แต่ผู้ประกอบการดิจิทัลส่วนใหญ่ระบุว่าโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการโดยรวมลดลง เนื่องจากขาดแคลนแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการขับเคลื่อนธุรกิจ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขาดแคลนแรงงานที่ตรงกับสายงานที่กิจการต้องการ เป็นต้น

ส่วนในไตรมาสที่ 3 ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.8 เป็นผลมาจากรัฐบาลเพิ่งผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรค โควิด-19 และเร่งฟื้นฟูธุรกิจหลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลเริ่มได้รับการจ้างดำเนินงานหรือมีโครงการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน ภาคการศึกษา นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้มากขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการดิจิทัลมีผลประกอบการดีขึ้นแต่ยังไม่กลับสู่สถานการณ์ปกติ คาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล จะปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 61.2 เนื่องจากโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นCloud Technology, Software, Social Media, Online Entertainment และ Online Payment มาปรับใช้ในการทำงานหรือเกิด Digital Transformation องค์กรมากขึ้น

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ดีป้าได้ศึกษาเพิ่มเติมควบคู่กับ มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 61-62 คาดการณ์ 3 ปี ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์กำลังประสบปัญหา จากมูลค่าตลาดฮาร์ดแวร์มีแนวโน้มลดลง ฉุดรั้งให้มูลค่าตลาดฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปรับตัวลดลงตามไปด้วย จาก 303,168 ล้านบาทในปี 61 เป็น 299,342 ล้านบาทในปี 62 โดยปัจจัยหลักเกิดมาจากการบริโภคอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ลดลง และเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ในรูปแบบบริการมากขึ้น พร้อมทั้งแทนที่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงบริการดิจิทัลมากขึ้นจากอุปกรณ์สื่อสาร

ทำให้มูลค่าตลาดบริการดิจิทัลเติบโตขึ้นสวนทางกับตลาดฮาร์ดแวร์ที่มูลค่าตลาดลดลง แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะบ่งชี้ว่าในภาพรวมผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะก็ยังคงต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งในด้านการด้านการแข่งขันทางด้านดีไซน์ การสร้างตลาดใหม่ของกลุ่มฮาร์ดแวร์ที่จะต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิต แล้วส่งออก แต่ต้องมีตลาดภายในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ