ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้พิจารณาเห็นชอบนั้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก โดยจากเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ในช่วง 23 ตุลาคม ? 31 ธันวาคม 2563 มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้เพียงในช่วงเวลาที่กำหนด ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่มีแผนซื้อสินค้าอยู่แล้ว แต่เป็นสินค้าที่ไม่รีบใช้ อาจชะลอการจับจ่ายออกไปก่อน เพื่อรอซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคในช่วงก่อนมาตรการนั้นลดลง
นอกจากนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวน่าจะกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราว จึงทำให้ผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ผลประโยชน์ต่อการจ้างงานคงมีจำกัด แต่จะได้ประโยชน์ในเรื่องการระบายสินค้าคงคลังและสภาพคล่องเป็นหลัก นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการกลางและขนาดเล็ก (SME) เช่น ร้านอาหารข้างทาง หรือร้านขายของชำขนาดเล็ก จำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษีน่าจะได้รับผลประโยชน์เป็นหลัก (แต่ร้านค้ารายย่อยเหล่านี้อาจได้ประโยชน์จากมาตรการ "คนละครึ่ง" ที่รัฐบาลให้วงเงินสมทบไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน) ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากที่มาตรการหมดลงไปแล้วคงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ มาตรการ ช็อปดีมีคืน มีลักษณะเดียวกันกับโครงการช้อปช่วยชาติที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2558-2561 ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงก่อนหน้านี้กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ขณะที่มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะต้องเป็นการใช้จ่ายในช่วง 23 ตุลาคม ? 31 ธันวาคม 2563 คิดเป็นระยะเวลา 70 วัน โดยครอบคลุมการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน อีกทั้ง หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้สูง โดยคาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4/2563 ซึ่งหากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 1.85 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 5.55 หมื่นล้านบาท แต่หากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 4.0 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง และมาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่สูง ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2563 หดตัวลดลงที่ -11% YoY เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการที่ ?12% YoY โดยมาตรการลดหย่อนภาษีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจากรัฐบาลโดยตรง ดังเช่นมาตรการแจกเงินผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่กระทบสถานะทางการคลังในปัจจุบันเท่าใดนัก ขณะที่ภาระทางภาษีจากมาตรการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีหน้าหลังจากที่มีการยื่นภาษีไปแล้ว ทั้งนี้ ท่ามกลางระดับหนี้สาธารณะที่เข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน รัฐบาลคงต้องพิจารณาออกมาตรการต่าง ๆ อย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและกระทบต่อวินัยทางการคลังน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ที่ออกมาล่าสุดสะท้อนความตั้งใจดีของรัฐบาล ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ในระดับหนึ่งและช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แม้ว่าผลประโยชน์ต่อการจ้างงานและธุรกิจ SME เฉพาะจากมาตรการนี้อาจมีจำกัด แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำ ประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ ประเด็นเบร็กซิท และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า