ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินคาดเปิดช่วงแรกปี 69 หลังรัฐส่งมอบพื้นที่ไม่เกินต.ค.64

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 12, 2020 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ว่า ในภาพรวมทางภาครัฐคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2564 โดยอย่างช้าไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งยังคงเป็นไปตามสัญญา ส่วนการย้ายสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน่วยงานกว่า 20 แห่ง และตามแผนเกือบทุกหน่วยงานจะรื้อย้ายให้เสร็จได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงแรกได้ภายในปี 2569

เมื่อเร็วๆนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารซีพี คณะผู้บริหาร บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ได้จัดประชุมสัญจรคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินบนรถไฟขบวนพิเศษเส้นทางรถไฟสายตะวันออก 220 กิโลเมตรจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟพลูตาหลวง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคตภายใต้การร่วมมือของภาครัฐและเอกชนครั้งแรกของประเทศไทย โดยรถไฟขบวนพิเศษนี้ได้แวะจอดที่สถานีลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ศรีราชา และพลูตาหลวง และมีการระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารและคณะที่ปรึกษากันอย่างกว้างขวางตลอดการเดินทาง เพื่อที่จะพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสายนี้ให้มีความยั่งยืนในทุกมิติและเป็นเส้นทางแห่งโอกาสและความภูมิใจของประเทศไทย

นายศุภชัย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินคือหัวใจของอีอีซี ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 และจะเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้ ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง ให้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต หรือ Smart City อีกด้วย

"รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แม้จะกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อนเวลามาก แต่เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นความท้าทายที่โดยปกติโครงการขนาดใหญ่ลักษณะนี้จะเป็นการสร้างเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่ต่อเมืองใหญ่ตามหลักการสากล แต่สิ่งที่ทำวันนี้ คือการมองถึงวิสัยทัศน์ที่เชื่อมกับอีอีซีให้เห็นผลในอนาคต ซึ่งผลที่ออกมาอาจต้องใช้เวลานาน 10-15 ปี

หากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ดีของประเทศว่านอกจากการมีผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Return of Investment ที่เหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่วัดไม่ได้แต่มีมูลค่ามหาศาลคือ Return of Society ดังนั้นถ้าวางแผนควบคู่กันไปจะมีผลตอบแทนต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล" นายศุภชัยกล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 1 ในที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กล่าวโดยสรุปว่า โครงการนี้ต้องมองการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในพื้นที่อีอีซี และที่สำคัญต้องสร้างความสมดุลระหว่างโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือ โลกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโลกการเติบโตในเชิงวัฒนธรรมที่มีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าเมื่อโครงการนี้มาก่อนเวลา การทำแผนโครงการนี้จึงต้องมองระยะยาวไปอีก 15-20 ปีข้างหน้าให้ทันต่อสถานการณ์อนาคตด้วย

รวมทั้งต้องดำเนินการใน 2 มิติ คือ 1.Inclusive Economic ในพื้นที่อีอีซี ทำให้โครงการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ 2.Inclusive Design โดยการออกแบบรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องคำนึงถึงเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

"เป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร สิ่งสำคัญต้องไม่ใช่ให้รถไฟฯ นำความเจริญวิ่งผ่านไปโดยที่ชาวบ้านได้แต่มอง แต่จะต้องทำให้รถไฟฯ พาความเจริญกระจายไปทุกส่วน ทุกพื้นที่ที่รถไฟฯ วิ่งผ่าน"ม.ล.ดิศปนัดดากล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ