นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 365 ตัวอย่าง ในเดือนก.ย.63 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 32.5 จากเดือนส.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.3 ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ โดยคาดว่าจะติดลบน้อยลงเหลือ -7.8% จากเดิมที่คาดไว้ -8.1%, รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวจากเดือนก่อน
ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนก.ย.นี้ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจ, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มต่างๆ ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองดังเช่นในอดีต, รัฐบาลขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือน, การส่งออกไทยในเดือนส.ค.63 ลดลง -7.94% และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออกจากประเทศไทย
"ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนก.ย.นี้ แม้จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีฯ ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังมีความกังวลสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของเยาวชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งความกังวลสถานการณ์ไวรัสโควิด" นายธนวรรธน์ระบุ
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 33.2 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และสถานการณ์โควิดในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ และจับจ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วง, ความวิตกกังวลโควิดรอบสอง, การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และธุรกิจขนาดเล็กขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการลดการจ้างงาน และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 32.7 โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย, ภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่, รัฐบาลขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง และกำลังซื้อที่ยังกลับมาไม่ปกติ การจ้างงานชะลอลง
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 36.8 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น, นักท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาโดยเฉพาะในวันหยุดยาว และเสาร์-อาทิตย์ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ คนตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้และแนวโน้มมีหนี้สินเพิ่มขึ้น, รายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวยังชะลอตัว เนื่องจากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ความกังวลสถานการณ์โควิดที่เปราะบางต่อธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 31.7 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณผลผลิตเกษตรมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และสับปะรด เป็นต้น, สถานการณ์โควิดดีขึ้น สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ซึ่งสร้างความเสี่ยงในการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยอีกครั้ง, การลดภาระต้นทุนทางธุรกิจ เช่น แรงงาน สวัสดิการ, หนี้นอกระบบยังมีสัญญาณการเพิ่มขึ้น และภาวะการมีงานทำลดลง จากการถูกเลิกจ้าง
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 32.6 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตรฟื้นตัวต่อเนื่อง จากพืชผลหลายชนิดทยอยออกสู่ตลาด เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา และกาแฟ เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอแผนการลงทุน, กำลังซื้อหดตัวอย่างต่อเนื่อง, การประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มมีสัญญาณของการปลดคนงานในกลุ่ม SMEs
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 29.4 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของภาคใต้, เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการลงทุน ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้, การถูกเลิกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และรายได้ครัวเรือนชะลอลง
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. ควบคุมราคาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงและไม่คึกคัก
2. แนวทางหรือมาตรการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ควรทำอย่างรัดกุม โดยไม่ปล่อยให้โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศอีกระลอก
3. ดูแลสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
4. รัฐควรเร่งใช้งบประมษร และเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
5. หาแนวทางลดภาระหนี้นอกระบบของครัวเรือน
6. กระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติให้อยากเข้ามาติดต่อธุรกิจกับประเทศไทยมากขึ้น