ธปท.เผยลูกหนี้กลับมาชำระตามปกติกว่า 60% หลังจะสิ้นสุดมาตรการต.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2020 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่สิ้นเดือนต.ค.63 จะสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้สำรวจข้อมูลและสอบถามไปยังธนาคารพาณิชย์ถึงการเตรียมความพร้อมให้กับลูกค้าธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว และจากข้อมูลที่ธปท.ได้รับมาพบว่าธนาคารพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมกับลูกค้าไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนสิ้นสุดมาตรการ อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้มีความสามารถกลับมาชำระคืนหนี้สถาบันการเงินได้ตามปกติเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 60% ของจำนวนลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมด หลังจากที่มาตรการจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นเดือนนี้ ซึ่งสะท้อนทิศทางแนวโน้มของการชำระหนี้ที่กลับมาดีขึ้น และ ธปท.จะยังไม่มีการขยายระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวออกไป แต่จะเปลี่ยนมาใช้มาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารเป็นกลุ่มๆ แทน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของลูกหนี้ธนาคารในสัดส่วนที่เหลือราว 40% ที่อาจจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกตินั้น จากการสอบถามไปทางธนาคารต่างๆ และได้ให้ธนาคารส่งข้อมูลมาไห้ธปท. พบว่า ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว มีการให้คำปรึกษากับลูกค้า และวางแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าในส่วนที่ได้รับผลกระทบและมีโอกาสไม่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ เป็นกลุ่มลูกค้า SMEs เป็นส่วนใหญ่

โดยในส่วนนี้ ธปท.ได้เล็งเห็นถึงการใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อช่วยพยุงภาคธุรกิจ SMEs ไว้ โดยเฉพาะโครงการ DR BIZ "การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง" ที่จะเป็นโครงการช่วยแก้หนี้เดิมของธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย และให้สินเชื่อใหม่แกลู่กหนี้ที่มีศักยภาพ ส่วนลูกหนี้รายย่อยนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ (debtconsolidation) ทำให้ลูกหนี้รายย่อยไม่เสียประวัติ ลดภาระหนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และใช้วงเงินที่เหลือได้ เป็นต้น

"หลังมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ที่เราสำรวจมาก็พบว่าลูกหนี้มากกว่า 60% ที่เข้ามาตรการจะกลับมาชำระหนี้ปกติได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอน การฟื้นตัวอาจจะไม่เร็ว ซึ่งในเรื่องเสถียรภาพการเงิน เราก็พยายามดูแลให้ดีที่สุด แต่ที่สอบถามทางธนาคารต่างๆ เขาก็มีการบริหารจัดการลูกค้าของเขามาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ และธปท. ก็มีโครงการในการให้คำปรึกษา และช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมอีก" นายเมธี กล่าว

ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการของสถาบันการเงินในส่วนของการขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้น ธปท.มองว่าเรื่องการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะไม่ผ่อนคลายโดยเร็ว และเป็นสิ่งที่ธปท.จะพิจารณาเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะปัจจุบันสถานการณ์ของเศรษฐกิจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีความผันผวน และกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินอยู่ค่อนข้างมาก

นายเมธี กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ส่งมาให้กับธปท.ยังพบว่าเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับที่สูง แม้จะลดลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ตาม แต่ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบเข้ามาได้อีกค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ ธปท.มองว่ายังมีความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการ และภาวะเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 2 ปี ประกอบกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย จึงทำให้ ธปท.ยังคงต้องระมัดระวังและพิจารณาปัจจัยอย่างรอบคอบก่อนผ่อนคลายมาตรการงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เพื่อให้ธนาคารต่างๆ มีเสถียรภาพและแข็งแกร่ง เพื่อมีความมั่นใจในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

นายเมธี ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธปท.ในส่วนของสินเชื่อซอฟท์โลน โดยยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.ทำได้ช้า และไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ทั่วถึง ซึ่งมองว่าอาจจะมาจากแนวทางและเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลน ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.ได้

โดย ธปท.จะได้นำแนวทางและเกณฑ์ขอสินเชื่อซอฟท์โลนกลับมาพิจารณาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เพื่อทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.ได้มากขึ้น และกระจายไปสู่ผู้ประกอบการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึง และช่วยพยุงธุรกิจของผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ โดยที่ ธปท.จะมีการประกาศแนวทางของการให้สินเชื่อซอฟท์โลนใหม่อีกครั้ง

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถกลับมาฟื้นขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลี่อนเศรษฐกิจที่สำคัญรองจากภาคการส่งออก เพราะการเปิดรับนักท่องเที่ยวทำได้จำกัด ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ไม่รวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยราว 2 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 มีแนวโน้มติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ -0.9% จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนในปี 64 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1%

"ประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า มีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน เพราะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศยังมีอยู่มาก" นายดอน กล่าว

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ การจ้างงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลายเป็นตกงานมากกว่า 1 ล้านคน และมีแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง ที่เปรียบเสมือนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 ล้านคน แม้ล่าสุด จะลดลงมาแล้วเหลือไม่ถึง 3 ล้านคน แต่ก็ถือว่าการว่างงานจะเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย

"ปัจจัยของการจ้างงาน เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ หากมีคนตกงานหรือคนที่เสมือนว่างงานเป็นจำนวนมาก ทำให้คนมีรายได้ลดลงมาก กระทบต่อการบริโภค และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหมแก่เศรษฐกิจไทย" นายทิตนันทิ์กล่าว

พร้อมระบุว่า ธปท.มองว่าภาครัฐจะต้องกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาครัฐเอง และสนับสนุนภาคเอกชนให้กลับมาจ้บงงานเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้คนกลับมามีรายได้ ทำให้ช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้กลับมา และทำให้คนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพขึ้น ขณะที่ในช่วงโควิด-19 การเคลื่อนย้ายแรงงานจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กลับไปสู่ภูมิภาคมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอีสาน ทำให้คนกลับไปทำงานในภาคเกษตรกรรม และภาคบริการที่มีรายได้ต่ำ มองว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ของคนด้วย

"ธปท.มองว่าสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการจ้างงานนั้น เป็นการพัฒนาทักษะของแรงงาน และพัฒนาอาชีพให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของคนในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยด้วย" นายทิตนันทิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ