สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 มิ.ย.50 มีจำนวน 3,168,426 ล้านบาท หรือ 37.72% ของ GDP โดยลดลงจาก 38.24% ในเดือน พ.ค.50
ทั้งนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,031,575 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 891,015 ล้านบาท หนี้สินของ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 200,120 ล้านบาท และหนี้องค์กรของรัฐอื่น 45,716 ล้านบาท โดยลดลงจากพ.ค.50 จำนวน 43,166 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงลดลง 34,081 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 7,401 ล้านบาท หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 16,486 ล้านบาท ส่วนหนี้องค์กรของรัฐอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
"การลดลงของหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่สำคัญเนื่องจากมีการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนด 50,000 ล้านบาท และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ชำระคืนเงินกู้จากตลาดซื้อคืนสุทธิ 16,491 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นหลักๆ เนื่องจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ได้ออกพันธบัตรวงเงินรวม 12,556 ล้านบาท" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับหนี้สาธารณะ 3,168,426 ล้านบาท แยกออกเป็น หนี้ต่างประเทศ 399,961 ล้านบาท หรือ 12.62% และหนี้ในประเทศ 2,768,465 ล้านบาท หรือ 87.38% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างตามลำดับ และเป็นหนี้ระยะยาว 2,801,719 ล้านบาท หรือ 88.43% และหนี้ระยะสั้น 366,707 ล้านบาท หรือ 11.57% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างตามลำดับ
การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐเดือน ก.ค.50 ในส่วนของหนี้ในประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตร 10,000 ล้านบาท การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรระยะยาวนี้เป็นความพยายามของภาครัฐในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง(Benchmark Bond) ตามแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ฉบับที่ 2 นอกจากนี้การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาลยังช่วยลดความไม่สอดคล้องกันระหว่างวิธีการกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลังซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น(Short-term Borrowing) และวัตถุประสงค์ในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณซึ่งเป็นการกู้เงินระยะยาว(Long-term Financing) สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้ทำการ Roll over หนี้เดิมจำนวน 1,000 ล้านบาท
สถานการณ์หนี้สาธารณะในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550(ต.ค.49-ก.ค.50) ในส่วนของหนี้ในประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศโดยการแปลงตั๋วเงินคลังที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 83,000 ล้านบาทเป็นพันธบัตร และดำเนินการออกพันธบัตรและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจในภาพรวมได้มีการ Roll over หนี้เดิม 19,601 ล้านบาท
ส่วนหนี้ต่างประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศโดยการชำระคืนก่อนครบกำหนด 28,890 ล้านบาท และ Refinance เงินกู้ต่างประเทศด้วยเงินบาท 17,200 ล้านบาท ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้รวม 28,890 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยได้รวม 2,370 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้บริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ Floating Rate Notes(FRNs) และหนี้เงินกู้ Samurai Bond โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าวงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 48,000 ล้านเยน ตามลำดับ สำหรับในส่วนของรัฐวิสาหกิจ บมจ.การบินไทย(THAI) ได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศวงเงินรวม 14,920 ล้านบาท
การกู้เงินของภาครัฐในเดือน ก.ค.50 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศโดยออกพันธบัตรออมทรัพย์ อายุ 3 ปี วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราผลตอบแทน 3.75% ต่อปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในส่วนของ FIDF3
สำหรับรัฐวิสาหกิจได้มีการกู้เงินในประเทศรวม 4,000 ล้านบาท โดยการเคหะแห่งชาติ(กคช.)ได้กู้เพื่อลงทุน 3,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)กู้เพื่อลงทุน 900 ล้านบาท และกู้เพื่อทดแทนเงินกู้ต่างประเทศ 100 ล้านบาท
โดยระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 198,734 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 162,660 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 36,074 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินจากต่างประเทศ 31,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้นอกแผนการก่อหนี้ต่างประเทศ
ส่วนการชำระหนี้ของภาครัฐในเดือน ก.ค.50 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 22,431 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 10,158 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 12,273 ล้านบาท และในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 131,450 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ธนวัฏ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--