นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเปิดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 (11th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้เน้นเรื่องการผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลต่างๆ ของจีน รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของจีน ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยเห็นควรใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเชื่อมโยงของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าระหว่างกัน อันจะเป็นประโยชน์ในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าของไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดจีน รวมถึงตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในหัวข้อ "จับตามองท่าเรือสากล ร่วมกันเสริมสร้างระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ในยุคสมัยใหม่ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้" พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและเส้นทางขนส่งทางบก ความร่วมมือและการพัฒนาด้านการขนส่งในหลายรูปแบบ และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทยไปจีนได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งปัจจุบันมีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว
"ไทยเข้าร่วมการประชุมฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและผลักดันกว่างซีให้เป็นประตูสู่อาเซียน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในทศวรรษที่ 21 และข้อริเริ่ม BRI ของจีน" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุ
ในปี 2562 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้า 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,200 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 50,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 51,723.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็น 0.26% โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 19,625.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีนมาไทย 32,098.63 ล้านเหรียญสหรัฐ