ทีวีโฮมช้อปปิ้ง โชว์มูลค่าตลาดพุ่งรับแรงกระตุ้นสถานการณ์โควิด-ช่วย SME อยู่รอด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 15, 2020 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนะบุล มัทธุรนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค (TVD) เปิดเผยในการแถลง"ทีวีโฮมช้อปปิ้ง โอกาสและทางรอดของผู้ประกอบการไทยในยุค New Normal" ว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโฮมช้อปปิ้งอยู่ราวๆ 10 ราย มูลค่าตลาดโดยรวมในปี 62 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 63 มูลค่าตลาดเข้าใกล้มูลค่าทั้งปีก่อนที่ 13,000-14,000 ล้านบาทแล้ว หลังจากได้รับปัจจัยเร่ง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านโฮมช้อปปิ้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถอยู่รอดได้ในช่วงสถานการณ์โควิด

สำหรับสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) เป็นการรวมตัวผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้ง 5 ราย เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโฮมช้อปปิ้งให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และได้รับความน่าเชื่อถือทั้งจาก ลูกค้า ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่ดูแลและกำกับผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้ง

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้มีนโยบายให้กับสมาชิคในสมาคม 4-5 ข้อที่จะต้องปฎิบัตตาม 1.นโยบายการคืนสินค้า คือหากลูกค้าได้รับสินค้า แล้วไม่เกิดความพึงพอใจ หรือสินค้าเกิดความเสียหาย ลูกค้าสามารถคืนสินค้าได้ตามผู้ประกอบการที่ซื้อไป 2.นโยบายในการรับประกันตัวสินค้า โดยสินค้าที่ซื้อไปจากผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย จะมีการรับประกันระยะเวลาสั้นหรือยาวตามสินค้านั้นๆ

3.การให้บริการหลังการขาย คือการที่สามารถปรึกษาหรือซักถามข้อสงสัยในสินค้าได้ โดยสามารถติดต่อ Call Center ได้ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง และ 4.การควบคุมคุณภาพสินค้า มาตรฐานของสินค้าที่ผ่าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือการผ่านมาตรฐาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) นายองอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด เปิดเผยว่า จุดแข็งของโฮมช้อปปิ้งอยู่ที่สามารถครอบคลุมการจำหน่ายสินค้าไปยังทุกๆช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทีวี ออนไลน์ รวมไปถึงออฟไลน์ด้วย ซึ่งช่องทางหลักอย่างโฮมช้อปปิ้งเป็นช่องทางที่ให้ความบันเทิง ให้ข้อมูลข่าวสาร และมีการนำเสนอสินค้าได้อย่างชัดเจน ทำให้การตัดสินใจในการซื้อสินค้าได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการบริการหลังการขายที่ดี ตอบโจทย์ลูกค้าที่สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันยังสามารถปรับเปลี่ยน หรือคืนสินค้าได้ทันที ทำให้เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค นางนรินธร อนุเคราะห์ธนาพงษ์ หัวหน้าผู้บริหารด้านการเงิน บริษัทไฮ ช็อปปิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า สินค้าที่ได้รับความนิยมในการนำเสนอผ่านโฮมช้อปปิ้ง ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หลังจากผู้บริโภคเริ่มเห็นถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพก่อนที่จะป่วยและเข้ารักษาในโรงพยาบาล และ สินค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อ ในส่วนของราคาขายสินค้า เป็นราคาสินค้าที่มีความสมเหตุสมผล และสินค้าที่ตอบรับความต้องการ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ณ จณะนั้นจริงๆ จะทำให้สินค้าจำหน่ายได้ นายสัญญา อุทัยวรวิทย์ ผู้อำนวยการิวุโส ฝ่ายบริหารการขาย บริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า เสน่ห์ของการจำหน่ายสินค้าผ่านโฮมช้อปปิ้งเป็นช่องทางการขายที่ทำการตลาดแล้วรู้ผลทันที อาทิ เมื่อมีการดำเนินรายการขายผ่านทีวีสามารถรู้ได้เลยว่าขายสินค้าได้จำนวนเท่าไหร่ จึงทำให้วางแผนได้ทันทีว่าจะต้องมีการผลิตสินค้า หรือเตรียมสินค้าไว้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ยังมองว่าหากผู้ประกอบการที่หาช่องทางการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ โฮมช้อปปิ้งเป็นช่องทางหนึ่งที่เหมาะสม เนื่องจากนอกจากการจำหน่ายสินค้าผ่านทีวี หรือรายการแล้ว ยังมีช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออฟไลน์

ขณะเดียวกัน ยังช่วยคิด พัฒนารูปแบบในการสื่อสาร การออกแบบรูปแบบการจำหน่ายสินค้า ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความต้องการที่จะเปิดช่องทางการขายสินค้า และพัฒนารูปแบบการทำการตลาด เหมาะสมที่จะเข้ามาจำหน่ายสินค้ากับช่องทางดังกล่าว นายสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อปโกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันทีวีโฮมช้อปปิ้ง ไม่ใช่เป็นเพียงช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านทีวีเท่านั้น แต่เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบ Omni Channel ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้าน ผ่านระบบออนไลน์ ผ่านระบบเทเลเซลล์ (Telesales) ซึ่งในทุกๆช่องทางมีการเก็บข้อมูล ทำให้การทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย การทำผ่านบริษัทของเราจะช่วยให้การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น "เทรนด์การจำหน่ายสินค้าหลังจากนี้จะผ่านเทคโนโลยีในการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นทั้งการสั่งซื้อสินค้าด้วยเสียง การสั่งซื้อซื้อสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่สะดวกสบายมากขึ้น และสินค้าที่จะเข้ามาตอบโจทย์สังคมในปัจจุบัน คือ กลุ่มสินค้าในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และความต้องการหลักมองว่าเป็นการบริการ และเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าหลังจากนี้สิ่งที่จะเติบโตคือกลุ่มที่รองรับความต้องการของผู้สูงอายุเป็นหลัก"นายสรโชติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ