นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจที่เคยเข้าร่วมมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่วงเงินกู้ไม่ถึง 100 ล้านบาท ที่จะครบกำหนด 6 เดือน ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จะไม่ได้รับการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปดังกล่าว
ทั้งนี้ เพราะหากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อ อาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้ เนื่องจากลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพัก ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้ รวมทั้งจะยังส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานาน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
ดังนั้นกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสมภายในวันที่ 31 ธ.ค. 63
นางรุ่ง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีลูกหนี้ทั้งหมดของระบบสถาบันการเงินที่ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนผันการพักชำระหนี้ดังกล่าว คิดเป็น 6.89 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่อยู่ในมาตรการพักหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 7.8 แสนบัญชี และเป็นหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี โดยในส่วนนี้มีลูกหนี้ประมาณ 94% ที่ทั้งสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ และสถาบันการเงินสามารถติดต่อเพื่อดำเนินการช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ ต่ออีก แต่อีก 6% ของยอดหนี้ หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการติดต่อลูกหนี้ เพราะยังติดต่อไม่ได้ จึงยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรกับลูกหนี้ในส่วนนี้หลังจากหมดอายุมาตรการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุก และตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ได้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกราย แต่เป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง ตรงลักษณะปัญหาของลุกหนี้ หรือการฟื้นตัวของรายได้ของลูกหนี้มากขึ้น
สำหรับมาตรการรองรับสำหรับลูกหนี้แต่ละประเภท หลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป ได้แก่ 1. ลูกหนี้ที่กับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ 2. ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนนี้สถาบันการเงินจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยสามารถคงสถานะลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ระหว่างการเจรจาจนถึงสิ้นปี 2563 และ 3. ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ในส่วนนี้สถาบันการเงินจะพิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปีนี้ 4. ลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ให้ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดเป็น NPL
นางรุ่ง กล่าวว่า สำหรับแนวโน้ม NPL ไม่มีความน่ากังวลใจ เพราะไม่ได้มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ธปท. ไม่ได้ปฏิเสธปัญหา ในส่วนที่ต้องแก้ไขก็จะต้องแก้ไป
นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ อีกทั้งขณะนี้ ธปท. อยู่ระห่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจใดที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ