นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจในทุกภาคของประเทศจะมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างอ่อนๆ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จะเห็นชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้า เป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การเลือกตั้ง และการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 จนถึงสิ้นปีประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท โดยฉพาะที่มาจากการเลือกตั้งไม่น่าต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ที่ระดับ 4.1% ได้ตามที่คาดการณ์ไว้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 51 หลังจากการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเร็ว ที่คาดจะมีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200,000 ล้านบาท จากงบปกติที่แต่ละไตรมาสเบิกจ่ายประมาณ 400,000 ล้านบาท รวมถึงการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ที่คาดจะมีเงินสะพัดประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท และทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ 0.2%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมีสัญญาณชะลอตัวลง และจะต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 เพราะยังมีปัจจัยลบหลายประการ ทั้งราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
เมื่อแยกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือเศรษฐกิจชะลอลงเพราะการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่รายได้ของภาคเกษตรยังขยายตัวได้ดี เพราะระดับราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอลงเพราะผลิตผลทางการเกษตร ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง รวมถึงการชะลอลงของภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน
ขณะที่ภาคกลาง ยังมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องเช่นกัน เพราะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันระดับสูง ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ภาคเกษตรกรรมชะลอตัวลง เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอตัวลงเช่นกัน
สำหรับภาคใต้ ชะลอตัวลงเพราะมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราลดลง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง อีกทั้งยังมีปัญหาการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนลดลงด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--