นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมฯ เตรียมเดินหน้าโครงการสวัสดิการที่พักอาศัยของข้าราชการในที่ราชพัสดุเพิ่มอีก 9 แห่ง คือ 1. กรุงเทพมหานคร 2. นครนายก 3. สงขลา 4. สุราษฎร์ธานี 5. ประจวบคีรีขันธ์ 6. เชียงราย 7. อุบลราชธานี 8. อุดรธานี และ 9. มหาสารคาม เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจโครงการบูรณาการสวัสดิการที่พักอาศัยกับสถานที่ทำงานและศูนย์บริการของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ ยังเตรียมเปิดให้ข้าราชการที่สนใจจองสิทธิในโครงการดังกล่าว ในพื้นที่แปลง กท. 0475 (บางส่วน) แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เพิ่มเติมอีก 700-800 ยูนิต จากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ข้าราชการที่สนใจจองสิทธิที่พักอาศัยเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการพลเรือนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในลักษณะอาคารพักอาศัยรวม (คอนโด) 7 ชั้น ซึ่งพบว่ามีผู้สนใจจองกว่า 300 ราย เกินจำนวนห้องพักที่มีรองรับเพียง 76 ห้อง ทำให้ต้องมีการขยายโครงการเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถรองรับโครงการในเฟส 2 ได้
ขณะที่การเปิดให้จองสิทธิโครงการดังกล่าวในพื้นที่แปลง กท.1060 ถนนเพชรบุรี เขตบางกะปิ กรุงเทพ มียอดจองสิทธิ 270 ราย จากจำนวนห้อง 76 ห้อง, พื้นที่แปลง กท.2918 (บางส่วน) ถนนพระราม 3 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพ มีผู้ของสิทธิกว่า 300 ราย จากจำนวนห้อง 76 ห้อง และพื้นที่แปลง นบ. 380 (บางส่วน) ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีผู้จองสิทธิ์ 200 กว่าราย จากจำนวนห้อง 76 ห้อง
ส่วนแปลงที่ยังมีผู้จองไม่เต็มจำนวน กรมธนารักษ์ได้มีการปรับเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ จากข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการประเภทอื่น และขยายระยะเวลาการรับจองจนถึงวันที่ 22 ต.ค. 63 โดยโครงการทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 12 เดือน
"ปีงบประมาณ 2564 กรมธนารักษ์มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาที่พักอาศัย เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ในพื้นที่ราชพัสดุต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกประมาณ 2 พันห้อง ทั้งในพื้นที่ใหม่ ๆ และพื้นที่ที่ได้เคยดำเนินการไปแล้ว แต่ยังสามารถรองรับการดำเนินการในระยะที่ 2 ได้" นายยุทธนา กล่าว
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการประเภทอื่น โดยไม่ต้องมีสถานทีทำงานหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่โครงการ แต่หากผู้เข้าร่วมโครงการ มีสถานที่ทำงานหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการ จะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรกและจะได้รับสิทธิ์การเข้าอยู่ 30 ปี
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างกระบวนการสำรวจข้อมูลบ้านทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในพื้นที่ส่วนราชการ โดยหากไม่มีการใช้ประโยชน์ จะมีการขอคืนเพื่อนำมาพัฒนา โดยการเปิดให้เอกชนพัฒนาเชิงอนุรักษ์ เช่น กรณีบ้านเขียว หรือบ้านเขียวขุนพิทักษ์ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ต่อไป