คลังกระตุ้นรัฐวิสาหกิจปรับปรุงระบบบริหารเพิ่มประสิทธิภาพ-ทำกำไร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 22, 2007 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง กล่าวว่า คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้ง 59 แห่งควรมีความเข้าใจถึงการกำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน รวมถึงการตระหนักในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 
โดยเฉพาะการมีความเข้าใจในระบบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"บอร์ดมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐวิสาหกิจ เพราะจากการประเมินผลงานตั้งแต่ปี 2539 พบว่า บทบาทของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมีผลต่อประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก" นายสมหมาย กล่าวในการสัมมนาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง ในหัวข้อบทบาทคณะกรรมการกับผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
ในปีนี้คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ปรับปรุงแนวทางการประเมินผลให้มีความเหมาะสมกับภารกิจและขนาดประกอบการของรัฐวิสาหกิจมากยิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดแนวนโยบายของผู้ถือหุ้น(Statement of Direction) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนัก และเป้าหมายสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
รมช.คลัง กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีความเจริญก้าวหน้าต้องมาจากคุณสมบัติของคณะกรรมการ 4 ประการ คือ องค์ความรู้, ทักษะ, จิตสำนึก และการลดวัฒนธรรม
"วันนี้บทบาทของบอร์ดต้องมีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองมากขึ้น เพื่อผลักดันให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐาน และมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมกับองค์กรเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเติบโตอย่างเข้มแข็ง" นายสมหมาย กล่าว
ด้าน นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังหวังให้รัฐวิสาหกิจเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐให้คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะถึงแม้ในปีที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจทั้ง 59 แห่งจะทำรายได้สูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มจากปีก่อนค่อนข้างมาก แต่หากมองในแง่ของกำไรแล้วจะอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถือว่าสูงมากนัก
"กำไรของรัฐวิสาหกิจ 90% มาจาก 3 สาขา คือ พลังงาน 72% ขนส่ง 10% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 6.7% ดังนั้นต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐวิสาหกิจที่เหลือ" นายศุภรัตน์ กล่าว
ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้ง 59 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกัน 6.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของจีดีพี ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีหนี้สินรวมกัน 4.6 ล้านล้านบาท ส่วนทุนรัฐวิสาหกิจมีจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของสินทรัพย์รวม
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากแยก บมจ.ปตท.(PTT) ออกมาก็จะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ มีการใช้สินทรัพย์ในการสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติมากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรมีการพิจารณาถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการของรัฐวิสาหกิจที่ยังมีผลประกอบการขาดทุนอยู่
สำหรับในปีนี้คาดการณ์ว่ารัฐวิสาหกิจจะสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 7.7 หมื่นล้านในปี 49 และปี 51 จะเพิ่มเป็นเกือบ 1 แสนล้านบาท
ส่วนช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา(ต.ค.49-ก.ค.50) การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังมีความล่าช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องพิจารณาเร่งรัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ