นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่นั้น อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG ภายในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลง
ประกอบกับสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดจร (Spot) ในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 6.6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู หลังจากที่เข้าสู่ฤดูหนาวทำให้มีความต้องการของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น โดยเรื่องดังกล่าวได้นำเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานให้รับทราบแล้ว
ทั้งนี้ การจะเปิดให้มีการนำเข้า LNG จาก Spot เพิ่มเติมนั้น ต้องพิจารณาควบคู่กับความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศที่ลดลง รวมถึงปริมาณซื้อขายก๊าซฯตามสัญญาระยะยาวที่ทำไว้กับผู้ผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ,เมียนมา และการนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวของบมจ.ปตท. (PTT) เนื่องจากต้องพิจารณาไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่หากผู้ซื้อไม่สามารถรับก๊าซฯ ได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย เพราะในส่วนที่ ปตท.ทำสัญญาระยะยาวในการจัดหาก๊าซฯจากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าวนั้นเป็นในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งการที่รัฐจะอนุมัติให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มเติมต้องอยู่นอกเหนือจากส่วนดังกล่าวด้วย เพราะหากมีการนำเข้า LNG แล้วเกิดปัญหา Take or Pay ผู้นำเข้า LNG รายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
กรณีดังกล่าวนายสุพัฒนพงษ์ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตอบคำถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ แล้วก็เตรียมที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนประกาศหลักเกณฑ์การนำเข้าต่อไป
อนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper ในไทยมีทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ PTT , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ในนามบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) และกลุ่มบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) โดยปัจจุบันมีเพียง PTT และ กฟผ.ที่นำเข้า LNG เข้ามาแล้ว ส่วนการนำเข้าของเอกชนรายอื่นยังต้องรอการพิจารณาจากภาครัฐ