นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบและรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยมีเรื่องพิจารณาจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่
1. ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 ? 2580 (AEDP2018)
2. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 ? 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)
3. ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP2018)
4. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018)
5. แผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 ? 2567 ซึ่งเป็นแผนระดับ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้มีเรื่องรับทราบ จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) , การศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า , โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) , การกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการขอปรับปรุงหลักการและรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก็จะมีการปรับปรุงรายละเอียดสำคัญให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันและความเหมาะสมในอนาคต แม้ตามร่างแผนจะมีปริมาณซื้อไฟฟ้ารวม 1,933 เมกะวัตต์ (MW)ช่วงปี 2563-2567 ก็ตาม แต่การดำเนินการก็จะทบทวนในรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้ตามร่างแผน PDP2018 Rev.1 นั้น กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอต่อกพช.ต่อไป โดยข้อเสนอ สศช.ได้แก่ ให้ทบทวนความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลง หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ และให้รวมแผนพลังงานหลักของประเทศ ให้เหลือแผนเดียว จากปัจจุบันมี 5 แผน คือ แผนไฟฟ้า,น้ำมัน,พลังงานทดแทน,แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจเรียกเป็นแผนพลังงานแห่งชาติ โดยให้มีการปรับปรุงทุก 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ทางกระทรวงพลังงานจะจัดดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในปีหน้า และประกาศเป็นแผนพลังงาน ฉบับใหม่ในปี 2565 ซึ่งก็จะเป็นไปตามปีเดียวกับแผนของคณะกรรมการปฎิรูปพลังงานเสนอ
สำหรับการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) นั้น ได้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use :TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาท/หน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)