นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของคนไทย ทำให้มีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 83.8% ต่อจีพีดี หรือคิดเป็นมูล่า 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 13.49 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"สถานการณ์โควิดทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการลดชั่วโมงการทำงาน การถูกเลิกจ้าง ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวในการเปิดงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2020
ทั้งนี้ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ ธปท.ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่เป็นลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤติไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย, การลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับรูปแบบของสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่ไปด้วย