นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า
ประกอบด้วย 1.เร่งกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ 2.จัดหาแหล่งน้ำสำรอง 3.ปฎิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตร และพื้นที่เสี่ยง 4.กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในหน้าแล้งให้ชัดเจน โดยจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก และ สายรอง 6.วางแผนการเพาะปลูกที่ชัดเจน 7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8.ติดตามประเมินผลการใช้น้ำ และ9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้กับทุกภาคส่วน เพื่อขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสั่งการให้มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคกลางในสถานีรับน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการรุกล้ำของน้ำเค็ม 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำสำแล แม่น้ำท่าจีน ที่สถานี ปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก และ แม่น้ำบางปะกง ที่สถานีบ้านสร้าง
พร้อมทั้งรับทราบผลการปฏิบัติงานของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ในช่วงที่ผ่านมา จากอิทธิพลพายุ ต่างๆ พร้อมกันนี้ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะมาตรการรับมือน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ที่คาดว่าจะมีในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้
จากนั้นประเทศไทยจะเข้าสู่หน้าแล้ง ปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอสำหรับทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังมีข้อจำกัดในการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง จึงต้องมีมาตรการจำกัดการใช้น้ำ ส่วนน้ำเพื่แการอุปโภค บริโภคและน้ำประปา ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำว่าทุกหมู่บ้านต้องมีน้ำประปาเพียงพอ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสำรวจแล้วพบว่า มีประปา 41 สาขา ที่อาจขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้หามาตรการรองรับไว้แล้ว ขณะที่ภาคการเกษตรมีการวางแผนการจัดสรรน้ำทั้งในนอกเขต และ ในเขตชลประทาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าจะมีการเพาะปลูก 7.5 ล้านไร่ และยังเตรียมการหามาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำของไม้ผลยืนต้นนอกเขตชลประทานด้วย
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. และ กอนช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาการชำรุดของอ่างเก็บน้ำหินตะโง่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พร้อมประสานความร่วมมือ กับจังหวัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่กำลังได้รับอยู่ในขณะนี้ จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนให้ประชาชน พร้อมรับมือกับมวลน้ำที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วย และได้เน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบ การบริหารงานการจัดการน้ำแล้ง ฤดูแล้งปี 2563/64 จะต้องมีการดำเนินการจัดสรรน้ำให้ทั่วถึงเป็นธรรม ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และทันต่อเหตุการณ์ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ควบคู่กันไปด้วย