นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ประชุมเพื่อประเมินผลมาตรการช่วยเหลือที่เรียกว่า "ยา 2 สูตร" คือ การลดดอกเบี้ยและการพักชำระหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการใน 6 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.- ก.ย. 2563) ผลที่ออกมาโดยรวมถืออยู่ในระดับที่น่าพอใจ ลูกหนี้ของคลินิกแก้หนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 94% ยังที่จ่ายชำระค่างวดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบและพักชำระหนี้มีเพียง 6% เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่ไม่แจ่มใสนักและยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก คณะกรรมการฯ จึงขยายมาตรการช่วยเหลือออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 แต่ได้ปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และผลกระทบที่จะมีต่อความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้อย่างใกล้ชิด
มาตรการช่วยเหลือที่เรียกว่า "ยา 2 สูตร" หรือ ยาสองขนาน ที่คลินิกแก้หนี้ได้ดำเนินการไปในช่วงเมษายน ถึง กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ กล่าวคือ ลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเลื่อนกำหนดชำระหนี้หรือเลือกที่จะใช้ "ยาสูตรที่ 1" มีเพียง 6% แม้ว่าโครงการกำหนดให้เป็นสิทธิสำหรับลูกหนี้ทุกรายที่จะเลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ผลที่ออกมาชี้ว่าการลดดอกเบี้ย 2% ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่ทำให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพไม่เลือกที่จะพักชำระหนี้ และยังคงชำระค่างวดเข้ามาตามปกติ
ลูกหนี้ที่ยังคงชำระค่างวดเข้ามาต่อเนื่องหรือเลือกที่จะใช้ "ยาสูตรที่ 2" มีสูงถึง 94% ซึ่งประกอบด้วยลูกหนี้ที่ชำระหนี้เข้ามาครบค่างวดทั้งหมด 74% ในขณะที่ลูกหนี้ 20% ชำระหนี้ได้บางส่วน โดยจำนวนเงินต่ำสุดที่ชำระเข้ามา คือ 100 บาท
"เราประเมินว่า มาตรการช่วยเหลือ ยา 2 สูตรของโครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถตอบโจทย์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปพร้อมๆ กัน ลูกหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้รับการผ่อนปรนให้พักชำระหนี้โดยไม่ถือว่าผิดนัด ประวัติจะไม่เสีย ในขณะที่ลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง ได้รับการลดดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด ซึ่งในมุมนี้ ถือว่าช่วยลดความกังวลด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินด้วย" นางธัญญนิตย์ กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯมองไปข้างหน้า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยยังไม่แจ่มใสนัก และอาจจะใช้เวลาอีกสักพักก่อนที่จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติ จึงเห็นควรให้ปรับปรุงและขยายมาตรการความช่วยเหลือออกไปอีก 9 เดือนจนถึงมิถุนายน 2564 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกหนี้ในช่วงที่ยากลำบาก
ทั้งนี้ การขยายมาตรการ ยา 2 ขนาน เนื่องจากเห็นว่ามีประสิทธิผลสามารถตอบโจทย์ทั้งฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้ operation การดำเนินการไม่ยุ่งยากซับซ้อน และแนวทางการปรับปรุงก็มาจากข้อมูลผลของมาตรการที่เราเห็น (evidence based) ซึ่งโครงการมีลูกหนี้ 2 กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน
กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมีรายได้และสภาพคล่องลดลง บางรายตกงาน ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือก็อาจต้องออกโครงการ กลับเข้าสู่วงจรหนี้เสียเช่นเดิม กลุ่มนี้จะได้รับยาขนานแรก โดยโครงการได้ปรับปรุงแนวทางโดยลูกค้าต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิตามมาตรการนี้ (opt in) จากเดิมให้สิทธิแก่ลูกหนี้ทุกรายเป็นการทั่วไป ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ง่ายๆ เพียงเข้าไปในเวปไซค์ www.คลินิกแก้หนี้.com และกรอกข้อมูลแสดงความจำนงผ่านเข้ามา อยากจะขอย้ำว่า ลูกหนี้ที่สนใจจะเข้ามาตรการนี้จะต้องกรอกข้อมูลขอเข้ามาตรการซึ่งไม่เหมือนช่วงแรก (โดยกำหนดต้องแจ้งเข้ามาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563)
กลุ่มที่สอง คือ ลูกหนี้ที่ยังพอชำระค่างวดได้ โครงการจะกระตุ้นให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ชำระค่างวดเข้ามาตามกำลังความสามารถ โดยจะได้รับยาขนานที่สอง คือ ลดดอกเบี้ยให้ 1-2% หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนี้ แต่จะมีการแบ่งกลุ่มที่จะให้ความช่วยเหลือออกเป็นดังนี้
1.กลุ่มที่จ่ายค่างวดเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ในช่วง 9 เดือนข้างหน้าจะได้รับการลดดอกเบี้ย 2%
2.กลุ่มที่จ่ายค่างวดเฉลี่ยร้อยละ 40-79.99 ในช่วง 9 เดือนข้างหน้าจะได้รับการลดดอกเบี้ย 1%
ดอกเบี้ยที่ทางคลินิกแก้หนี้ได้ลดให้ลูกหนี้ในโครงการเพิ่มเติมจะถูกนำไปตัดเงินต้น ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ทั้งหมดลดลงเร็วขึ้นด้วย
ประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วงนี้จนถึงมิถุนายน 2564 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 1-2 % จากโครงการเช่นเดียวกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายจริงอยู่ที่ 2-3% ถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทั่วไป
ความคืบหน้าของโครงการคลินิกแก้หนี้ ณ เดือน กันยายน 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 24,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้กว่า 8,300 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 240,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 900 ราย และอีก 1,200 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็คข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าในปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการสะสมจะเกิน 10,000 ราย