นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในงานสัมมนา "EEC GO เดินหน้าลงทุน" ว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีโครงการสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO)
ปัจจุบันมีเพียง TG MRO ที่ชะลอโครงการไปก่อน ส่วนอีก 4 โครงการ มีเงินลงทุนรวมประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐ 42% และเอกชน 58% สามารถเดินหน้าไปได้ตามแผนที่จะเปิดให้บริการได้ในปี 67 ทำให้เห็นได้ว่าการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) สามารถผลักดันโครงการให้เดินได้ตามเป้าหมาย
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้าง การถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้อยู่ขั้นตอนส่งมอบพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่มีอุปสรรคน้อยที่สุด มีผู้บุกรุกน้อยจำนวนสาธารณูปโภค ไม่มาก ส่วนนี้คาดส่งมอบได้ในเดือนม.ค. 64 ราว 70-80% ซึ่งบางส่วนติดกระบวนการเวนคืน
ส่วนที่ 2 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ส่วนใหญ่จะมีท่อก๊าซธรรมชาติ ของบมจ.ปตท. (PTT) และรายอื่น รวมทั้งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งกำลังพูดคุยกันอยู่ว่าหน่วยงานใดจะดำเนินการ และส่วนที่ 3 สุวรรณภูมิ-พญาไท-บางซื่อ หรือช่วง Missing link ช่วงนี้มีสาธารณูปโภคจำนวนมากถึงกว่า 20 ราย และ มีผู้บุกรุกมาก คาดว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งตามสัญญามีเวลา 4 ปี แต่คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี (ปี 64-65)
ขณะที่การส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ล่าช้าบ้าง เพราะติดเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ทางบริษัทเอกชนจะต้องนำเจ้าหน้าที่จากอิตาลีเข้ามาดูการบริหารและการเดินรถของแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ก่อนที่จะมีการโอนถ่ายการบริหารงานเดินรถภายในปี 65 ทั้งนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนเร่งรัดในปี 2567
ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้บริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กล่าวว่า โครงการขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำแผนแม่บทสนามบินที่จะมีการประมาณการความต้องการใช้ของผู้โดยสารใน 50 ปี โดยมองไปถึงความต้องการจากต่างประเทศ ซึ่งใน EEC จะมีทั้งการเดินทางทางอากาศ เดินทางน้ำ ทางรางและทางบก รวมทั้งการพัฒนาเมืองการบินที่มีเขต Free Trade Zone ตลาดสัมมนา และเป็นเมืองที่เชื่อมต่อสนามบิน ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือนธ.ค.64
โดยเฟสแรก จะพัฒนาสนามบินรองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน/ปี ในปี 2567 เฟส 2 รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน/ปี ในปี 2574 เฟส 3 รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี ในปี 2587 และเฟสสุดท้ายรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปีภายในปี 2600
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด กล่าวว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และถมทะเลซึ่งปัจจุบันนำเทคโนโลยีมาใช้ทำเป็นระบบปิด จึงทำให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยมาก โดยคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในเม.ย. 64 และก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ในปี 2567 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2570
สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นายโชคชัย กล่าวว่า ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างเจรจาผลตอบแทนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในต้นปี 2564 และเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือ F1 คาดแล้วเสร็จ ปี 2567 ซึ่งจะรองรับได้ 4 ล้านทีอียู สอดรับกับกำลังการรองรับของท่าเรือแหลมฉบังเต็ม 11 ล้านทีอียูในปี 2567 หลังจากนั้นก่อสร้างท่าเทียบเรือ E ซึ่วจะแล้วเสร็จและรองรับตู้สินค้าอีก 3 ล้านทีอียู และ ท่าเรือ E0 รองรับรถยนต์ 1 ล้านคัน
ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา (TG MRO) นายโชคชัย กล่าวว่า เนื่องจาก บมจ.การบินไทย (THAI) อยู่ระหว่างทำแผนฟื้นฟูจึงรอรูปแบบการลงทุนจากการบินไทยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทีมงานก็ยืนยันที่จะเดินหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และอยากให้ร่วมลงทุนกับแอร์บัสที่มีโนว์ฮาวทันสมัย โดยคาดว่าโครงการจะชะลอไปปี 2564-2565 และคาดว่าในปี 2567 การบินไทยน่าจะเปิดบริการได้ ซึ่งภาครัฐพร้อมสนับสนุน รวมถึงการออกแบบ และเป็นที่ปรึกษา ก็เหลือการเปิดประมูลเท่านั้น