นายอาคม เติมพิมยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติถึงกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาระบุว่าไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำสุดในอาเซียน โดยยืนยันไม่เป็นความจริง เพราะทุกประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ การส่งออกติดลบ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับงบประมาณปี 2563 มีความล่าช้าทำให้โครงการลงทุนต่างๆ ล่าช้าไปด้วย
ทั้งนี้ จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 2 ของไทยติดลบประมาณ 12.2% แต่หลังจากนั้นดัชนีชี้วัดต่างๆปรับตัวดีขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า มาตรการของรัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยทำให้จีดีพีในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่ เริ่มจากระยะที่ 1 ช่วงดูแลและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ
ระยะที่ 2 มาตรการเยียวยา เช่น การเติมเงิน 5,000 บาท ให้กับประชาชน ภาคเกษตรกร ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 15.3 ล้านคน ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
ระยะที่ 3 มาตรการฟื้นฟู ด้วยการออกกฎหมายด้านการเงินจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งภายใต้กรอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
รมว.คลัง ยืนยันว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังมีเพียงพอ และสถานการณ์การคลังยังมีความมั่นคง โดยมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าที่วางไว้
ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นมุ่งเน้นไปเรื่องการเพิ่มกำลังซื้อ ทั้งโครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ส่วนในระยะยาวยังคงเน้นเรื่องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เน้นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ระบบราง สนามบิน เพื่อเป็นการเตรียมการความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป