น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป และร่างหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of letter) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โดยสาเหตุที่ต้องมีการลงนามในครั้งนี้ เนื่องจากสหราชอาณาจักร จะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 1 ม.ค.64 ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องแก้ไขตารางข้อผูกพันทางภาษีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และสหราชอาณาจักรต้องจัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีภายใต้ WTO ใหม่ ซึ่งกระทบต่อการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการเจรจาอย่างรัดกุมแล้ว จึงไม่มีสาระใดกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ การเจรจายึดหลักผลประโยชน์โดยรวมที่ไทยจะได้รับหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ต้องไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1) ร่างความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป เป็นการจัดสรรปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีที่สหภาพยุโรปให้แก่ไทย หลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป โดยการจัดสรรสัดส่วนใหม่นี้ จะไม่รวมปริมาณโควตาของสหราชอาณาจักร
2) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of letter) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร เป็นการจัดสรรปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีที่สหราชอาณาจักรให้แก่ไทย หลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป โดยมีปริมาณโควตาเท่ากับสัดส่วนที่เหลือจากการจัดสรรของสหภาพยุโรป
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อนำปริมาณโควตาสินค้าที่จัดสรรให้แก่ไทยมารวมกันทั้ง 2 ฉบับแล้ว จะเท่ากับปริมาณโควตาสินค้าที่ไทยเคยได้รับเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และเนื่องจากร่างฯ ทั้ง 2 ฉบับ ถือเป็นหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะเสนอต่อรัฐสภาภายในเดือนพ.ย.63 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ม.ค.64 เป็นต้นไป
"ในเบื้องต้น จะมีการลงนามย่อกำกับในร่างทั้ง 2 ฉบับ เพื่อรับรองว่าเนื้อหาสาระสำคัญจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการลงนามย่อจะไม่มีผลผูกพันใดๆกับไทย จนกว่าร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และได้มีการลงนาม" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ