นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 27 ต.ค.63 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงบทบาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโควิด-19 และยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของประเทศสมาชิกในวิกฤตโควิด-19 เช่น จำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็น เพื่อให้เพียงพอใช้ในประเทศ เป็นต้น ต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO มีความโปร่งใส เหมาะสม บังคับใช้เป็นการชั่วคราว และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าโดยไม่จำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ห่วงโซ่การผลิตโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ส่วนประเด็นการเจรจาภายใต้ WTO ที่ยังไม่บรรลุผลการเจรจา เช่น การลด/เลิกอุดหนุนประมง การลด/เลิกอุดหนุนสินค้าเกษตร ที่ส่งผลให้กลไกราคาในตลาดโลกบิดเบือน และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และการจัดทำกฎเกณฑ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นั้น ที่ประชุมได้เสนอให้สมาชิกมีความยืดหยุ่นในการเจรจามากขึ้น และเจรจาอย่างประนีประนอม โดยเฉพาะการอุดหนุนประมง ที่จะต้องยืดหยุ่นในเรื่องการกำจัดการอุดหนุนการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) และห้ามอุดหนุนการทำประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ รัฐมนตรี WTO ยังได้สนับสนุนการปฏิรูป WTO ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน และผลักดันให้แต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพื่อรักษากลไกระงับข้อพิพาทของดับบลิวทีโอ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประเทศสมาชิก เพราะปัจจุบันสมาชิกองค์กรอุทธรณ์หมดวาระตั้งแต่ปีที่ผ่านมารวม 6 ตำแหน่ง จาก 7 ตำแหน่ง และ 1 ตำแหน่งที่เหลือจะหมดวาระในปี 64 ส่งผลให้ขณะนี้ การระงับข้อพิพาททางการค้าของสมาชิกล่าช้า และอาจทำให้ประเทศคู่กรณีเสียประโยชน์ทางการค้าได้
ขณะที่การคัดเลือกผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO คนใหม่ ที่อยู่ระหว่างการคัดเลือกนั้น ที่ประชุมคาดหวังว่าจะได้ผู้นำในการขับเคลื่อนการเจรจาภายใต้ WTO ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 ในปี 64
"ไทยสนับสนุน และยืนยันสานต่อการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาประเด็นสำคัญ ให้สสรุปผลสำคัญได้ และการปรับปรุงกลไกการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคี และเสริมสร้างบทบาทของ WTO ในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตโควิด-19" นายสรรเสริญระบุ