นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการค้าต่างประเทศของบราซิล (CAMEX) ได้ออกประกาศมาตรการเพื่อลดภาษีนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสารในอัตราภาษีนำเข้า 0% สำหรับข้าวนำเข้าจากทุกประเทศ ปริมาณรวม 400,000 ตัน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.63 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.63 เนื่องจากรัฐบาลบราซิลต้องการสร้างความมั่นใจที่จะให้มี Supply ทางอาหารให้เพียงพอในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวของไทยที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไปยังบราซิล ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องเสียภาษีนำเข้าข้าว 12% ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขนส่งค่อนข้างสูงส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดบราซิลไม่มากนัก
โดยในปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปยังบราซิลปริมาณ 433 ตัน มูลค่า 460,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 14 ล้านบาท ข้าวที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวกล้อง ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.63 มีการส่งออกข้าวไปบราซิล ปริมาณ 28,163 ตัน มูลค่ากว่า 12.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 390 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการลดภาษีนำเข้าข้าวดังกล่าวที่ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดบราซิลได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ไทยจะมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า บราซิลเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 200 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดในลาตินอเมริกา และมากเป็นอันดับ 6 ของโลก กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวบราซิลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบราซิลยังมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) ซึ่งประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา ปารากวัย และอุรุกวัย
ทั้งนี้ บราซิลจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้แก่ข้าวที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกกลุ่ม Mercosur ส่วนประเทศนอกกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งประเทศไทยต้องเสียภาษี 12% ดังนั้นมาตรการของรัฐบาลบราซิลซึ่งลดภาษีนำเข้าสำหรับข้าวจากประเทศทั่วโลกจึงถือเป็นโอกาสที่ผู้ส่งออกข้าวไทยจะขยายตลาดสู่บราซิลรวมทั้งประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาได้มากขึ้น