นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้จัดสัมมนาเรื่อง "Brexit the Series: โอกาสดีๆ ที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องรู้" ไปเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเชิญวิทยากรจากภาครัฐและเอกชนผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และ กรรมการผู้จัดการบริษัท บลูริเวอร์โปรดักส์ จำกัด ร่วมเสวนาสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Brexit โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน วิชาการ และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ทางภาคเอกชนสนับสนุนการจัดทำเอฟทีเอ และส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับยูเค เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อาหารแปรรูป รวมถึงสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และประมง
โดยสหราชอาณาจักร (ยูเค) จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.64 กรมฯ จึงเห็นความสำคัญและตระหนักถึงสิ่งที่ภาคเอกชนไทยควรรู้ สำหรับวางแผนธุรกิจล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม อาทิ นโยบายด้านภาษีใหม่ของยูเค (MFN Applied Rate) ที่ใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่ยูเคยังไม่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย หรือประเทศที่ยูเคไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) แทนอัตราภาษีเดิมของสหภาพยุโรป (Common External Tariff: EU CET) ซึ่งมีผลให้ยกเลิกภาษีกับสินค้าทั้งหมด 4,480 รายการ คิดเป็นร้อยละ 48 ของรายการสินค้าของยูเคทั้งหมด และจะส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยเสียภาษีนำเข้าลดลง 737 ล้านบาท สำหรับข้าว ไก่แปรรูป และเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันยูเคได้สรุปความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าเดิมแล้ว 22 ฉบับ และอยู่ระหว่างการจัดทำ FTA กับคู่ค้าใหม่อีก 16 ฉบับ สำหรับไทยมีการเจรจาจัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีภายใต้ WTO เพื่อจัดสรรปริมาณโควตาสินค้า 32 รายการ หลัง Brexit แล้ว เช่น ไก่สด ไก่หมักเกลือ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง ปลาแปรรูป กุ้งแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจและคาดการณ์ล่วงหน้าให้กับภาคการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ ไทยและยูเคยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานร่วมการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างกัน (Joint Trade policy Review: Joint TPR) เพื่อศึกษาโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันในสาขาธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าประกาศผลสำเร็จการจัดทำรายงานร่วมฯ ภายในปี 2563 เพื่อปูทางสำหรับการจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและยูเค โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าไทยกับยูเคมีมูลค่า 6.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยูเคเป็นคู่ค้าอันดับ 21 ของไทย ไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 3.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 2.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เป็นต้น สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.63 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเคมีมูลค่า 3.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 2.29 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ