นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทย โดยมีสาเหตุจากการเปิดตลาดสินค้าและบริการประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯ GSP ดังกล่าวมีสินค้าจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 600 ล้านบาท มิใช่ 25,000 ล้านบาท มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิฯ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีการทบทวนคุณสมบัติของประเทศที่ได้รับสิทธิฯ อย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 ได้ประกาศระงับสิทธิฯ GSP ทั้งประเทศ กับอินเดีย และตุรกี ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตลาดสินค้าและบริการ และด้านเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศตามลำดับ และได้ระงับสิทธิฯ บางรายการสินค้ากับยูเครน ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาระงับสิทธิฯ GSP เพิ่มเติมด้วยเหตุผลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ และในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น เอริเทรีย ซิมบับเว คาซัคสถาน และอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น
สำหรับการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่สหรัฐอเมริกาให้สิทธิฯ แก่ทุกประเทศ (119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด) จะสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้ สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีความล่าช้าและต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ
โดยปกติแล้ว ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการอาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา หากสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐฯ จะให้สิทธิฯ ย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิ GSP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศต่ออายุในเดือนมีนาคม 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งผู้ส่งออกมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างดีอยู่แล้ว
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ และรองรับผลกระทบจากการตัดสิทธิฯ ดังกล่าว หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากสิทธิฯ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา