ภาวะตลาดเงินบาท: เปิด 31.09/11 แข็งค่าตามทิศทางภูมิภาค ให้กรอบวันนี้ 31.00-31.15

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2020 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.09/11 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก เย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.15 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งจากแนวโน้มผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์และตลาดหุ้นในเอเชียปรับบวกขึ้น ตลาดมี sentiment ที่ดี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า มองกรอบที่ 31.00-31.15 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (2 พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.38243% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.39119%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 104.70/75 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 104.80 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1649/1653 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1641 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.1590 บาท/
ดอลลาร์
  • รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวม
เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เกิดผลกระทบหนักสุด หรือตกอยู่ในภาวะ Big Shock ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทำให้เกิดช่องว่าง
ของการเติบโตในแต่ละธุรกิจมีไม่เท่ากัน ผลกระทบครั้งนี้จะอยู่นานพอสมควร เพราะยังไม่แน่ใจว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้ใน
ช่วงใด รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 10% ของมูลค่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ธนาคารจึงวางแผนการดำเนินงานในปี
2564-2567 ผ่านการเน้นพัฒนาด้านดิจิทัลเป็นหลัก
  • ททท.เสนอแผนการตลาดต่อรองนายกรัฐมนตรี ดึงนักท่องเที่ยวยุโรปกลุ่มสแกนดิเนเวีย กลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ งัด
แพ็กเกจดึงต่างชาติกักตัวก่อนเที่ยว อัดโปรพักกักตัวมีแถมวันพักฟรี ช่วยค่ารถ ตั๋วเครื่องบินเที่ยว หวังแง้มประตูดึงยุโรปหนีหนาวเที่ยวไทย
ปลายปี ขณะที่ฟินแลนด์จัดไทยเสี่ยงต่ำไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกหากเดินทางเข้าประเทศ
  • กรมการค้าต่างประเทศเผยไทยจับมือ 26 ประเทศทำหนังสือถึงสหรัฐฯ อ้อนเร่งต่ออายุโครงการจีเอสพีเป็นครั้งที่ 11
หลังจากจะหมดอายุโครงการ 31 ธ.ค.นี้ ย้ำอาจใช้เวลาทำให้ต่ออายุไม่ทันสิ้นปีและไทยต้องกลับมาเสียภาษีในอัตราปกติชั่วคราว
  • นักลงทุนจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยแม้ผลสำรวจของทุกสำนักต่างระบุตรงกันว่า
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อนายโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่คะแนนเสียงจากผู้ที่ยังไม่ได้
ตัดสินใจ และคะแนนเสียงจากหลายรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้งครั้งนี้
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 พ.
ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันอังคารที่ 3 พ.ย.ตามเวลาสหรัฐ รวมทั้งการประชุมนโยบายการเงินของ
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์นี้
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (2 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์
ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรปและสหรัฐ
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 59.3 ในเดือนต.ค. ซึ่ง
เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.4 ในเดือนก.ย.
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ใน
เดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนก.ย.
  • ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.4 ในเดือน
ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 53.2 ในเดือนก.ย.
  • นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 4-5 พ.ย. หลังการเลือกตั้ง
ประธานาธิบดีสหรัฐเพียงวันเดียว และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย., ตัวเลขจ้างงาน
ภาคเอกชนเดือนต.ค.จาก ADP, ดุลการค้าเดือนก.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนต.ค.จากมาร์กิต,
ดัชนีภาคบริการเดือนต.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ ตัวเลขจ้าง
งานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ