นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันนี้ (3 พ.ย. 63) หากผลการเลือกตั้งออกมานายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย น่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทยมากกว่านายโจ ไบเดน เพราะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคาดว่าใกล้จะจบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปรับขึ้นเพดานภาษีจะเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว
รวมถึงนโยบายของนายทรัมป์ จะส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานการผลิต ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ โดยไทยนับว่าเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีนที่จะสานต่อไปยังการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้ไทยจะเป็นหนึ่งประเทศที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯทดแทนจีน ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก
แต่หากนายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้ง มองว่าไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพราะนายไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน ซึ่งจะเห็นว่าการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง แต่ไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP แต่ไทยก็ยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำสหรัฐคนต่อไป สหรัฐก็จะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 (America Second) ในอนาคต และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ (China Number One) เพราะทั้งนายทรัมป์ และไบเดน ไม่ใช่ผู้นำโลกการค้าเสรี ทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ แต่จะผลักดันกระแสชาตินิยม เน้นการสร้างงานให้สหรัฐฯ Made in USA เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ซึ่งกระแสชาตินิยมในสหรัฐฯกำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน
ดังนั้น ประเทศไทยจะยังต้องเปิดรับทั้งสหรัฐฯและจีนให้ได้ โดยไม่เลือกข้าง เพราะไทยยังคงต้องค้าขายกับจีน แม้จีนจะยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 ของโลกในขณะนี้ แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ทำให้ไทยต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตให้จีนมากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่เรียกว่า "เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ" ที่เป็นการเปิดรับทั้ง 2 ด้าน เดินหน้า RCEP และร่วม CPTPP แม้ความขัดแย้งของสหรัฐฯและจีนจะยังอยู่ภายใต้การเข้ามาทำงานของผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป
"ไทยไม่สามารถหนีกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ผมเชื่อว่าไทยและอาเซียนยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ความขัดแย้งตรงนี้ แต่หากบริหารไม่ดี กระแสโลกาภิวัฒน์ตีกลับ จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้"นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 63 อาจจะเห็นการชะลอตัวเล็กน้อยจากช่วงไตรมาส 3/63 เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศได้กลับมาอีกครั้งในช่วงนี้ และหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปใช่มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้าย และภาคการท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเร็ว เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ไม่มาก และเป็นกลุ่มที่มีการออมสูง แต่ยังต้องติดตามว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนระดับล่าง และกลุ่มที่มีรายได้ไม่ประจำ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากในครั้งนี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน ส่วนการชุมนุมทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนในประเทศและนักลงทุน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะติดลบ 0.5-0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 และทั้งปียังมองเศรษฐกิจติดลบ 7.5%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะกลับมาเติบโตได้ 2.8% โดยการฟื้นตัวขึ้นคาดว่าจะเห็นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/64 เพราะหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยตกลงต่ำที่สุดถึง -12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ภาพของไตรมาส 2/64 มีโอกาสเห็นการพลิกกลับมาเป็นบวก
และมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนของวัคซีนออกในช่วงระยะเวลาที่รวดเร็วก็ตาม และภาคการท่องเที่ยวก็จะยังไม่ได้กลับมาอย่างเร็ว แต่เศรษฐกิจจะยังเติบโตได้ในไตรมาส 2/64 เพราะเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำ ซึ่งคาดว่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยติดลบเป็นไตรมาสสุดท้าย คือ ไตรมาส 1/64 ที่ธนาคารประเมินไว้ที่ติดลบ 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 และจะค่อย ๆ เห็นการฟื้นตัวขึ้นมาในไตรมาสถัด ๆ ไป
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 64 หากไม่มีสถานการณ์ที่ร้ายแรงเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก เหมือนช่วงล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 แต่มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ และร่วมกับภาครัฐในการนำเครื่องมือออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมา