นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ขณะนี้การจัดทำหลักเกณฑ์สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากดำเนินการเสร็จแล้ว เบื้องต้นอยู่ระหว่างกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ (MW) จากเดิมที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้จัดทำโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์
โดยจะเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน ,คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาและหากผ่านการอนุมัติแล้ว ทาง พพ.จะจัดรับฟังความคิดเห็น หลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ ก่อนจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือน ม.ค.64
สำหรับวิธีการคัดเลือกโครงการนั้น เบื้องต้นจะใช้วิธีการเปิดประมูลแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะไม่กระทบต่อราคารับซื้อวัตถุดิบ เพราะจะเป็นการกำหนดให้ประมูลแข่งขันในช่วงของโรงไฟฟ้าไม่ใช่ในส่วนของเชื้อเพลิง และจะแยกแข่งขัน 2 ประเภทเชื้อเพลิง ระหว่างเชื้อเพลิงชีวมวล กับเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนที่มีผู้เสนอให้ใช้วิธีการจับฉลากนั้นจะดำเนินการยุ่งยากกว่าการประมูล ขณะที่จะกำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในส่วนของรัฐและชุมชนในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการทิ้งโครงการ และกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อโรง อยู่ที่ 3-6 เมกะวัตต์
ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. เห็นว่ารัฐบาลควรใช้วิธีการจับฉลากเพื่อคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แทนการประมูลเนื่องจากหากใช้วิธีประมูลจะประสบปัญหาเหมือนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ผู้ชนะประมูลยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้จนเลยกำหนดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว โดยเห็นว่าการใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติและจับฉลากจะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่สุด
นอกจากนี้ต้องการให้มีการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 25 สตางค์/หน่วย โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เป็นผู้จัดเก็บไว้ และนำไปใช้ลดค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าชุมชน แทนการให้ผู้ประกอบการและรัฐวิสาหกิจชุมชนไปตกลงจำนวนเงินกันเอง เพราะสุดท้ายผลประโยชน์จะตกถึงแค่วิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือน แต่ไม่ถึงชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าทั้งหมด
นายนายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. เตรียมยื่นเรื่องต่อกกพ. ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาสัญญารับซื้อไฟฟ้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Quick Win Projects) จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งราว 84 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 2 ปี เพราะขณะนี้เหลือระยะเวลาขายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแค่ 18 ปี เพราะพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อปี 60 ทำให้ผู้ประกอบการเสียเวลาไป 2 ปี และการลงทุนโรงไฟฟ้าได้คำนวณผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ครอบคลุมอยู่ที่ 20 ปี
นอกจากนี้ยังจะเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเพิ่มโควตาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนให้มากขึ้นกว่าแผนที่ในปัจจุบันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับล่าสุดได้กำหนดโควตาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์ รวมเป็นปริมาณรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนทั้งหมด 900 เมกะวัตต์นั้นยังเป็นปริมาณที่ไม่ครอบคลุมปริมาณขยะที่มีอยู่