นักวิชาการชี้บาทแข็งสาเหตุหลักทำส่งออกก.ค.วูบ แนวโน้มชะลอต่อใน H2/50

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2007 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการ-เอกชนเชื่อส่งออก ก.ค.ลดวูบจากสาเหตุหลักบาทแข็งค่า ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐชะลอจึงนำเข้าสินค้าน้อยลง ซึ่งทำให้เห็นแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังที่น่าจะชะลอการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า แต่ทั้งคงยังไม่พลาดเป้าเติบโต 12.5% ขณะที่ปัญหา sub-prime จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหรือไม่นั้นต้องรอลุ้นในปีหน้า
นายเชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ภาวะการส่งออกของไทยที่ขยายตัวลดลงอย่างมากในเดือนก.ค.50 จะเป็นเพียงผลกระทบในช่วงสั้นที่มีสาเหตุหลักมากจากปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญมีมูลค่าลดลงมาก เนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงินบาท
โดยจะเห็นได้จากการส่งออกข้าวในเดือน ก.ค.50 มูลค่าลดลง 10.9%, มันสำปะหลัง ลดลง 10.3% และยางพารา ลดลง 8.6% ซึ่งทำให้ในเดือน ก.ค.50 การส่งออกของไทยเติบโตได้เพียง 5.9% ถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 29 เดือนตั้งแต่ ก.พ.48 ในขณะที่การส่งออกเดือน มิ.ย.50 ขยายตัวถึง 17.7%
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าการส่งออกทั้งปี 50 ไม่น่าเป็นห่วง โดยจะยังเป็นไปตามเป้าหมายการเติบโตที่ 12.5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, สิ่งพิมพ์ เป็นต้น ยังคงเติบโตได้ดี
"สินค้าเกษตรหลักติดลบหมด ดังนั้นตัวเลขการส่งออกที่ลดลงมากในเดือนก.ค.50 มาจากความผันผวนของสินค้าเกษตร ซึ่งอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท เป็นความผันผวนในช่วงสั้นและอาจจะดีขึ้น ดังนั้น 12.5%(เป้าหมายการส่งออก)ยังน่าจะเป็นไปได้" นายเชาว์ เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"
นายเชาว์ เชื่อว่า ปัญหา sub-prime ของสหรัฐฯ จะยังไม่มีผลกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยในขณะนี้ แต่ยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องติดตาม เพราะน่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีหน้าหรือไม่
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า ภาวะการส่งออกในเดือนก.ค.ที่ขยายตัวเพียง 5.9% ยังไม่สามารถชี้วัดได้ชัดว่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมทั้งปีนี้ แต่สิ่งที่ต้องจับตาในช่วงหลังจากนี้คือปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
สำหรับการส่งออกที่ขยายตัวต่ำในเดือนก.ค.เชื่อว่ามีสาเหตุหลักมาจากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากและอย่างรวดเร็ว ผู้ส่งออกจึงไม่มั่นใจที่จะกำหนดราคาซื้อขายสินค้าทำให้ชะลอการส่งออก ส่วนสาเหตุรองมาจากการเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
นายธนวรรธน์ มองว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจไม่สดใสเท่ากับครึ่งปีแรก การขยายตัวโดยเฉลี่ย 6 เดือนหลังคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 10% เนื่องจากเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีกในช่วงไตรมาส 4/50 ซึ่งเป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าจากความเชื่อมั่นเรื่องการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
"ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาจากที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง จึงทำให้มีเงินไหลเข้ามาส่งผลให้บาทแข็งค่าขึ้นได้ในไตรมาส 4 และทำให้การส่งออกชะลอในไตรมาส 4 ขยายตัวไม่คึกคัก" นายธนวรรธน์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ส่วนผลกระทบจากปัญหา sub-prime ในสหรัฐนั้น อาจทำให้สหรัฐชะลอการบริโภคและลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยลง ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่ผลกระทบนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า การชะลอตัวของการส่งออกที่เกิดขึ้นในเดือนก.ค. เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐประสบปัญหาฟองสบู่แตก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วเพียงแต่ยังไม่ปรากฏผลชัดเจน
จนกระทั่งเกิดปัญหา sub-prime ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยิ่งชะลอตัวลงส่งผลให้การบริโภคภายในสหรัฐฯ ลดลงและนำเข้าสินค้าลดลง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 15% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นคาดว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกในครึ่งปีหลังจะอยู่ในทิศทางลดลงและทรงตัวจนถึงสิ้นปี แม้ว่าภาครัฐและเอกชนจะมุ่งขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็ตาม
"แนวโน้มการส่งออกต่อไปน่าจะโตน้อย เพราะเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก ให้เกิดปัญหาดอลลาร์ด้อยค่าลงและปัญหา sub-prime ตามมา ในภาพรวมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอย แต่ยังโชคดีที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นรวมทั้งเศรษฐกิจรัสเซีย บราซิล จีนและอินเดียยังขยายตัวได้ จึงช่วยให้เศรษฐกิจโลกพอไปได้" นายบันลือศักดิ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ศูนย์วิจัยธนาคารไทยธนาคารจึงได้ทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ใหม่ เหลือเพียง 10-12% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 15% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวและค่าเงินดอลลาร์ด้อยค่าลงทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบตาม
พร้อมกันนี้ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีเติบโตไม่ถึง 4% แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายภาครัฐเข้ามาช่วยเสริม แต่เนื่องจากภาคการส่งออกคิดเป็น 60% ของ GDP ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐคิดเป็น 17% ของ GDP
"การที่คิดจะใช้การใช้จ่ายภาครัฐมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออก เท่ากับเป็นการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เพราะสัดส่วนต่อจีดีพีมันต่างกัน"นายบันลือศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ