นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงภาพรวมการผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2563 การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทย ในส่วนของสุกรมีชีวิตปริมาณรวม 2,020,318 ตัว เพิ่มขึ้น 344.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 13,674.08 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออกสุกรขุน 1,914,386 ตัว และส่งออกสุกรพันธุ์ 105,932 ตัว ขณะที่การส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ ก็มีการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปริมาณรวม 43,128.92 ตัน มีมูลค่า 5,161.32 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยมีปริมาณการส่งออกรวม 769,665 ตัน มากกว่าช่วงเดียวของปีก่อนหน้า 0.67% คิดเป็นมูลค่ารวม 89,889 ล้านบาท แบ่งเป็นเนื้อไก่แปรรูป 58.50% ปริมาณ 450,282 ตัน มูลค่า 62,489 ล้านบาท และเนื้อไก่สด 41.50% ปริมาณ 319,383 ตัน มูลค่า 27,400 ล้านบาท โดยตลาดสำคัญของเนื้อไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และอียู ขณะที่เนื้อไก่สดมีญี่ปุ่น จีน และอียู เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ
กรมปศุสัตว์ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนผู้ผลิตและเกษตรกร ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก สะท้อนจากความสามารถในการส่งออกหมูและเนื้อไก่สู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐาน การสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต ที่ต้องเพียงพอกับการบริโภคของประชาชนชาวไทยก่อน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจึงนำมาวางแผนทำการตลาด เพื่อระบายสินค้าส่วนเกิน สร้างเสถียรภาพราคาช่วยเกษตรกรไทย และเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ
"ความสำเร็จในการนำสินค้าปศุสัตว์ไทยบุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และเกษตรกร ภายใต้ความมุ่งมั่นในการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหารมาตั้งแต่ต้น โดยร่วมมือกับภาคผู้ผลิตในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการที่ไทยมีชื่อเสียงทั้งด้านการป้องกันโรคในคนและโรคในสัตว์ติดระดับโลก ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว