ผลการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB เปิดเผยว่า ช่องว่างระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ร่ำรวยและยากจนในทวีปเอเชียขยายตัวมากขึ้น แม้ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม
อิฟซาล อาลี และ จวง จูจง นักเศรษฐศาตร์ประจำ ADB กล่าวว่า อัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับความไม่เท่าเทียมกันอย่างสุดขีดระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ 2 ประเภทในเอเชีย ได้แก่ "เอเชียที่เรืองรอง" และ "เอเชียที่ทุกข์ระทม"
ภาพลักษณ์ของเอเชียทั้งสองประเภทนี้เป็นสัญลักษณ์ทั้งความหวังและความทุกข์ เมื่อผสมผสานทั้งสองด้านเข้าด้วยกันจะถือว่าเป็นการพัฒนาความท้าทายสำหรับประชาชนในรุ่นต่อๆไปไปในภูมิภาคแห่งนี้" รายงานช่วงหนึ่งกล่าว
ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว GDP ต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 424 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,030 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 2533-2548 ด้วยอัตราการขยายตัว 6% ต่อปี
เมื่อแบ่งตามภูมิภาคแล้ว เอเชียตะวันออกมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 9% นำโดยจีน ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตด้วยอัตรา 3.2% ต่อปี แม้ว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" ในช่วงปี 2540 โดยเศรษฐกิจในเอเชียใต้เติบโตด้วยอัตรา 3.8% แม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำ แต่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญจากอดีตที่ผ่านมา
การเติบโตอย่างรวดเร็วได้ช่วยขจัดความยากจนในระดับขีดสุดลงอย่างมาก หากใช้บรรทัดฐานความยากจนที่ประชาชนดำรงชีพด้วยเงินต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันของธนาคารโลก ภาวะยากจนขีดสุดในเอเชียได้ลดฮวบลงจากระดับ 34.6% มาอยู่ที่ 18% ในช่วงระหว่างปี 2533-2548
อย่างไรก็ดี แม้การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ช่องว่างรายได้ในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงสูงมากอย่างน่าประหลาดใจ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--