นายโยเซฟ สติกลิซ นักวิเคราะห์จากบริษัทโนเบลของมาเลเซียและเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ได้แสดงความคิดเห็นในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอาจเผชิญวัฏจักรขาลงเนื่องจากวิกฤตการณ์ตลาดซับไพรม์ แต่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ถึงกับทรุดตัวลง
"วิกฤตการณ์ซับไพรม์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง ประกอบกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง และตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะผันผวน สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ชาวอเมริกันประมาณ 1.7 ล้านคนกลายเป็นคนไม่มีบ้านอยู่ในปีนี้ เนื่องจากกลายเป็นคนล้มละลาย" นายสติกลิซกล่าว
"การชำระเงินเพื่อการกู้จำนองสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำลง และรายได้ก็ลดน้อยลง นี่เป็นภาพที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นอกจากนี้ เรายังไม่รู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้มาตรการรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น หากการดำเนินการเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส ก็ยิ่งยากที่จะรู้ว่าปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสเพียงใด" เขากล่าว
นอกจากนี้ นายสติกลิซกล่าวว่า ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อถือเป็นหายนะอันร้ายแรงที่เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่ประกาศใช้ในปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่บุชใช้นโยบายลดหย่อนภาษีให้กับคนร่ำราย ลดอัตราดอกเบี้ย และสนับสนุนประชาชนให้กู้หนี้ยืมสินอย่างเกินตัว โดยบุชไม่คำนึงว่านโยบายเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่
"ชาวอเมริกันดำเนินชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย เมื่อปีที่แล้วยอดกู้ยืมเงินของชาวอเมริกันพุ่งขึ้นแตะระดับ 850 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดเงินออมภาคครัวเรือนติดลบ" สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--