คณะที่ปรึกษาด้านสินเชื่อการค้าต่างประเทศของหอการค้านานาชาติ (ICC Advisory on Trade Finance) ได้ออกข้อเรียกร้องด่วนให้ผู้นำกลุ่ม G20 ปกป้องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั่วโลกจากการล้มละลายเป็นวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ อันเนื่องมาจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตลอดจนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ (trade finance) ชี้ผู้นำโลกต้องเร่งลงมือดำเนินการ ก่อนที่จะสายเกินไป
วิกเตอร์ เค. ฟุง (ประธาน Fung Group) และ มาร์คัส วอลเลนเบิร์ก (ประธาน SEB) ในฐานะประธานร่วมของคณะที่ปรึกษาระดับสูงของหอการค้านานาชาติ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ผู้นำ G20 ร่วมกันดำเนินนโยบายแทรกแซงเพื่อเพิ่มการให้บริการสินเชื่อที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำในการกระตุ้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังประสบภาวะฝืดเคืองเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สินเชื่อการค้าต่างประเทศขับเคลื่อนการค้าราว 80-90% ของทั่วโลก และเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่สำคัญของเอสเอ็มอีจำนวนมาก อย่างไรก็ดี สัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏในระยะนี้ บ่งชี้ว่าอุปทานสินเชื่อการค้าสำหรับเอสเอ็มอีและกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ตามความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจ ความเสี่ยงของภาครัฐบาล และความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
นายฟุงกล่าวว่า "มีเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจนในการทำให้สินเชื่อการค้าต่างประเทศไหลเวียนในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต หรือภาคการค้าปลีกและบริการ ต่างขึ้นอยู่กับเงินทุนหมุนเวียนในลักษณะนี้ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากท่านในเวลานี้"
ด้านนายวอลเลนเบิร์กกล่าวว่า "จากประสบการณ์ของเราในการนำบริษัทข้ามชาติฝ่าวิกฤตต่างๆ ทางเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ เราเชื่อมั่นว่าการร่วมกันดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณและเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ จะสามารถช่วยป้องกันการล้มละลายเป็นวงกว้างของเอสเอ็มอีในช่วงหลายเดือนข้างหน้า พร้อมทั้งวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19"
การเรียกร้องจากสองผู้นำธุรกิจรายสำคัญก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะจัดขึ้นในเดือนนี้ เน้นย้ำให้เห็นว่าสินเชื่อที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือที่เหมาะอย่างยิ่งในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเป็นโอกาสให้รัฐบาลพุ่งเป้าการสนับสนุนไปที่การตอบสนองความต้องการสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน สินเชื่อการค้าต่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำยังจะช่วยบรรเทาความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลเกี่ยวกับหนี้สาธาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
ขณะที่นายจอห์น ดับเบิลยู. เอช. เดนตัน เลขาธิการใหญ่หอการค้านานาชาติ กล่าวว่า "ความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจโลกอาจนำไปสู่การลดการปล่อยสินเชื่อในตลาดสินเชื่อการค้าต่างประเทศในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของอัตราการเกิดวิกฤตทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากดำเนินการอยู่ได้ด้วยเงินสำรองที่กำลังหดตัวลงในช่วงวิกฤตโรคระบาด"
"รัฐบาลกลุ่มประเทศ G20 ควรมองว่าการแทรกแซงครั้งสำคัญเพื่อปกป้องอุปทานการค้าระหว่างประเทศไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นวิธีต้นทุนต่ำหรือแทบไม่มีต้นทุนเลยในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตโดยเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของประเทศเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของโลกจะต้องคว้าโอกาสที่หาได้ยากนี้ไว้เพื่อช่วยเอสเอ็มอีของเรา"