กขค.เสียงข้างน้อยแจงเหตุไม่เห็นด้วยควบรวม ซีพี-โลตัส ห่วงผูกขาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2020 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า กขค.เสียงข้างน้อย 3 คนไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้

กขค.เสียงข้างน้อยมองว่า ผู้ขออนุญาต มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่งในตลาด เพราะผู้ขออนุญาตเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่ หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด จะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะแข่งขันได้ในตลาด จะต้องใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุด จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

ส่วนผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (ซัพพลายเออร์) จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับ (ซัพพลายเออร์) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่สามารถวางสินค้าจำหน่าย หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่าย และต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

สำหรับผู้บริโภค ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภค ทั้งประเภทชนิดสินค้า และระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการ หรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต และหากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีก ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"การออกมาชี้แจงในครั้งนี้ เพราะต้องการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักความโปร่งใสในการพิจารณา ไม่ได้ต้องการสร้างความสับสน ความแตกแยก เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นกังวล และไม่เห็นด้วยในการพิจารณาให้ควบรวมธุรกิจ ส่วนมติที่ออกมาด้วยเสียงข้างมาก อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ พร้อมมี่เงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม ก็ยังคงเป็นมติอยู่ ถือว่าเป็นทางการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

อนึ่ง กรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจ ประกอบด้วย นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. และกรรมการอีก 2 คน คือ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ