สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รุกวางแนวทางพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI : National Quality Infrastructure ) ที่ใช้ในการสนับสนุนภาคการผลิต ตลอดจนสร้างองค์ความรู้และพัฒนาห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรไทยให้ได้คุณภาพครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และมว. ร่วมกันพัฒนาโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ในสถานที่ของโรงพยาบาลหนองเสือ ให้ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปสู่การยอมรับในระดับสากล เป็นการสนับสนุน และนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในจังหวัดปทุมธานี ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพให้แก่บุคคลากรที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ
ทั้ง 2 หน่วยงานได้กำหนดแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนแม่บทแห่งชาติฯ ตลอดจนบริหารจัดการและสนับสนุนบุคลากรเพื่อการดำเนินงานในโครงการฯ พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้สมุนไพรจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และร่วมผลักดันให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรเพื่อเป็นวัตถุดิบตามระบบคุณภาพเกษตรอินทรีย์ หรือ GAP (Good Agricultural Practice)
ประเทศไทยมีความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดหันมาให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่สร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับการใช้สมุนไพรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของสมุนไพรไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แบบครบวงจร อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการบริหารจัดการสมุนไพรที่ไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบหลายชนิด คุณภาพวัตถุดิบไม่ผ่านมาตรฐาน และปัญหาด้านการกำหนดมาตรฐานคุณภาพวัตถุดิบ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก มีความสามารถในการแข่งขันน้อย ทำให้สัดส่วนสถานประกอบการด้านการผลิตสมุนไพรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตมีน้อย จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อให้เกิดศักยภาพตามกำหนด