นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทยทุกระดับมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีมากถึง 97% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด โดยกำหนดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากที่สุด รวมถึงใช้สาระสำคัญของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
"ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็ง คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะหมายถึงโอกาสที่จะนำเงินทุนนั้นไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโต เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ นำไปสู่การกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมทั้งของผู้ประกอบการและกิจการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน" นายวีรศักดิ์ กล่าว
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนเองได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหัวข้อ "การเข้าถึงสินเชื่อ SME ด้วยหลักประกันทางธุรกิจ" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทรัพย์สินทางปัญญา และไม้ยืนต้นที่มีค่า รวมถึง เทคนิคและเคล็ดลับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้ประสบความสำเร็จ เช่น การเตรียมความพร้อมและเตรียมเอกสารอย่างไรในการยื่นขอสินเชื่อ การจัดทำเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ ฯลฯ
งานสัมมนาครั้งนี้จะมีการทำเวิร์คช็อปเพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริงซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บสย.ยังมีการออกบูธให้คำปรึกษาปัญหาด้านการเงินและการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาฯ โดยเฉพาะอีกด้วย
"เงินทุนนับเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีการเตรียมตัว/เตรียมเอกสารให้พร้อม มีแผนธุรกิจและแผนการเงินที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างวินัยทางการเงินที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้ผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อเกิดความน่าเชื่อถือ เกิดความมั่นใจ และเห็นถึงความจริงจังในการดำเนินธุรกิจของผู้กู้" นายวีรศักดิ์ กล่าว
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 พ.ย.63 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 560,495 คำขอ และมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน คิดเป็นจำนวนเงิน 8,768,869 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภททรัพย์สิน ตามลำดับ ดังนี้ (1) สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า จำนวน 6,674,994 ล้านบาท คิดเป็น 76.12% (2) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ เครื่องจักร/เครื่องยนต์ จำนวน 2,090,617 ล้านบาท คิดเป็น 23.84% (3) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า จำนวน 1,985 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% (4) กิจการ จำนวน 744 ล้านบาท คิดเป็น 0.01% (5) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ จำนวน 397 ล้านบาท คิดเป็น 0.01% และ (6) ไม้ยืนต้น เช่น ยาง ยางนา สัก ฯลฯ จำนวน 132 ล้านบาท คิดเป็น 0.002%