นอกจากนี้ ที่ประชุม กอบ. ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขต EEC ในส่วนของแผนพัฒนาการเกษตร สกพอ. ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC พร้อมทำได้ทันที 3 แนวทาง คือ 1.ใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าใหม่ สร้างความต้องการเพิ่มขึ้น 2.ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ยกระดับตลาด การแปรรูป กำหนดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและโอกาสสูง ให้ตรงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง สร้างรายได้ให้เกษตรอย่างยั่งยืน และ 3.ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าเข้าถึงตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร, ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่า ส่งเสริมแบบ Smart Farm สร้างอุตสาหกรรมอาหาร, พืชชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการวัตถุดิบ สร้างมูลค่าเพิ่ม, พืชสมุนไพร เชื่อมโยงความต้องการอุตสาหกรรมอาหารยา เครื่องสำอาง, ปศุสัตว์ แปรรูปเนื้อโคคุณภาพสูง ยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้เกษตรกร
ส่วนการพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่ EEC สกพอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บมจ.ทีโอที เดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5G เต็มรูปแบบ พร้อมเริ่มก่อสร้างทันทีคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC เริ่มพื้นที่นำร่อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยได้เตรียมบุคลากรด้านดิจิทัลรองรับจำนวน 100,000 คน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ EEC